Latest update พฤศจิกายน 24th, 2024 11:29 AM
วันที่ 29 มกราคม 2566 เวลา 13:00 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังหอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดย นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พลตรี สาธิต เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 พลตำรวจตรี ชาญชัย พงษ์พิชิตกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน รศ.ดร.สำเนาว์ เสาวกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่ เฝ้ารับเสด็จ โดยมี ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ประเภทผ้าและหัตถกรรม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 50 กลุ่ม เข้าร่วมจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ และได้รับเกียรติจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย คุณวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHARAWISH นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ช่างต้นแบบสิ่งทอ กรมหม่อนไหม นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ THEATRE คุณจิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล สไตล์ไดเร็กเตอร์นิตยสาร VOGUE ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียง เฝ้ารับเสด็จฯ การนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรการแสดงฟ้อนรับเสด็จ ชุด นางอัปสรา นิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคอีสาน จำนวน 35 กลุ่ม จากนั้น กลุ่มช่างทอผ้า ถวายรายงานส่งการบ้านผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาตามพระวินิจฉัย จำนวน 15 กลุ่ม และทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒธรรมกันตรึม จากนั้น เสด็จไปยังกลุ่มทอผ้ายกทองจันทร์โสมา บ้านอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย บ้านท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อทอดพระเนตรผ้าไหมยกทองและการทอผ้าไหมยกทอง นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า โครงการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของจังหวัดในพื้นที่ 4 ภูมิภาค เพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ผลงาน อัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการจำหน่ายผ้าไทย ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน ซึ่งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จะได้รับความรู้ในการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทรนด์สีสัน และเทรนด์แฟชั่นผ้าไทย การออกแบบคอลเลกชั่นผ้าไทย การเลือกใช้เส้นใยที่มีคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าไทย และการสร้างแบรนด์ จากผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ผลงานผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทย ให้มีความทันสมัย ใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกโอกาส ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งยังได้รับการถ่ายทอดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้และยังเป็นแบบอย่างในเรื่องการพัฒนาชุมชนโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก Bio-Circular-Green Economy: BCG สร้างความตระหนักให้รู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนทอผ้า คนย้อมผ้า และอาจส่งผลไปถึงผู้สวมใส่หากใช้สารเคมี ในการย้อมผ้า อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และมีการส่งเสริมให้คนในชุมชนพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนอีกด้วย “กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน และภาคีเครือข่าย ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทำให้ได้มีแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกชุมชนทุกภูมิภาคของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นในวันนี้ กลุ่มสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และช่างทอผ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับโอกาสที่ดีในการถวายรายงานส่งการบ้านผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาตามพระวินิจฉัย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ออกแบบเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มีความร่วมสมัย เหมาะสมกับยุคสมัยได้อย่างสวยงาม นำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ สร้างอาชีพ อย่างยั่งยืน” นายสมคิดฯ กล่าวเพิ่มเติม ด้านอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย กล่าวว่า กลุ่มจันทร์โสมา มีจุดเริ่มต้นจากเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ให้อาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร์ และคุณหญิงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี หาวิธีผลิตผ้าไหมให้มีเนื้อนุ่มเนียน คุณภาพเทียบเท่าผ้าไหมโบราณ อาจารย์วีรธรรมจึงได้อาสากลับมารือฟื้นกระบวนการผลิตผ้าไหมของบรรพบุรุษ จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการฟื้นฟูการทอผ้าแบบราชสำนัก การทอผ้าไหมของกลุ่มจันทร์โสมา มีความโดดเด่น มีความละเอียดและความนุ่มของเนื้อผ้าที่เกิดจากการเลือกเส้นไหมเส้นเล็กและบางเบา นำมาผ่านกรรมวิธีฟอกต้ม และย้อมด้วยสีธรรมชาติ แม่สีหลัก 3 สี คือ สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากแก่นแกแล และสีครามจากเมล็ดคราม สอดแทรกการยกดอกด้วยไหมทอง ที่ทำจากเส้นเงินแท้มารีดเป็นเส้นเล็ก ๆ ปั่นควบกับเส้นด้าย มีเทคนิคการทอแบบเนื้อ 3 ตะกอ ที่ใช้ตะกอเส้นพุ่งพิเศษที่ทำให้เกิดลายจำนวนตะกอมากกว่าร้อยตะกอ จึงต้องใช้คนทอถึง 4-5 คนต่อผืน ความละเอียดของการทอและเนื้องาน ทำให้ทอได้แค่ 5-7 เซนติเมตรต่อวันเท่านั้น ผืนที่มีความยาว 2 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ดังนั้น ราคาของผ้าไหมยกทองของจันทร์โสมามีราคาเฉลี่ยถึงเมตรละ 5 หมื่นบาท จนถึงหลักแสนบาท นอกจากนี้ ยังได้สะสมผ้าโบราณจำนวนหลายพันผืน ซึ่งได้จัดเก็บรักษาเป็นอย่างดี เพราะผืนผ้าแต่ละชิ้นล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางภูมิปัญญา โดยประชาชนสามารถศึกษาเรียนรู้และเข้าชมนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ ณ กลุ่มทอผ้ายกทองจันทร์โสมา บ้านอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย บ้านท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
เม.ย. 01, 2022 0
พ.ย. 24, 2024 0