Latest update พฤศจิกายน 23rd, 2024 1:38 PM
เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน 2565 เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปีการศึกษา 2563 โดยมีนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ปลัดจังหวัดพัทลุง หัวหน้าส่วนราชการ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพัทลุง และข้าราชการ รับเสด็จฯ ในการนี้สภามหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 3 ราย และพระราชทานเกียรติบัตรให้แก่อาจารย์ตัวอย่างและบุคลากรตัวอย่างของมหาวิทยาลัยทักษิณ จำนวน 4 ราย จากนั้น พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563 ระดับปริญญาเอก โท และตรี จำนวนรวม 2,112 คน โดยแบ่งเป็น ระดับปริญญาเอก จำนวน 7 คน ระดับปริญญาโท จำนวน 109 คน และระดับปริญญาตรี จำนวน 1,996 คน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทักษิณ มี 2 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตพัทลุง มี 2 แห่ง คือ ที่ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม และที่ตั้งของสำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และวิทยาเขตสงขลา มี 2 แห่ง คือ ที่ตำบลเขารูปช้าง และที่ตั้งของสถาบันทักษิณคดีศึกษา ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ภายใต้การกำกับดูแลของ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยกำหนดวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมระดับแนวหน้าของประเทศภายในปี 2567 และเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 2 การพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม สามารถสร้างอนาคตด้วยการจัดการเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม การบริการวิชาการและการบริหารที่เป็นเลิศ ผสานการทำงานและการขับเคลื่อนด้วยพันธกิจแบบบูรณาการจากจุดแข็งที่มีทางสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมทั้งการร่วมมือกับภาคีพันธมิตรที่ผ่านมาได้ดำเนินงานตามพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย จนเกิดความก้าวหน้าเรื่อยมา ในการนี้ พระราชทานพระราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปีการศึกษา 2563 ความว่า “ปัจจุบัน เทคโนโลยีต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนเราอยู่ตลอดเวลา เป็นต้นว่า เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ หลายช่องทาง ทำให้สามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก ไปสู่ผู้คนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ลักษณะดังกล่าวนี้ แม้จะมีคุณอนันต์ แต่ก็อาจก่อให้เกิดโทษมหันต์ได้ ถ้ามีการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จ บัณฑิตผู้มีปัญญา จึงต้องระมัดระวังในการเผยแพร่และการรับ ข้อมูลข่าวสาร โดยใช้วิจารณญาณพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า ข้อมูลข่าวสารใดเป็นจริงถูกต้อง หรือเป็นเท็จถูกบิดเบือน วิจารณญาณในการพินิจพิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารนี้ มีคุณประโยชน์ อย่างยิ่ง ทั้งในการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจการงาน ในการดำเนินชีวิต จะช่วยให้แต่ละคน เป็นผู้รู้เท่าทันสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ตื่นตะหนกหลงคิดหลงทำไปตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ เป็นโทษ อันจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหายแก่ตนเองและผู้อื่น ส่วนในการประกอบกิจงาน จะเกื้อกูลให้แต่ละคนสามารถพิจารณาตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ส่งผลให้งานที่ทำสำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ อาจกล่าวได้ว่า วิจารณญาณในการรับรู้และกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารเป็นเสมือนเกราะกำบังความผิดพลาดและความเสื่อมเสีย ที่อาจเกิดขึ้นแก่บุคคลและส่วนรวมได้ บัณฑิตทุกคนจึงควรสร้างสมอบรมไว้ ให้กล้าแข็งเที่ยงตรงอยู่เสมอ. ในโอกาสนี้ องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ประจำปีการศึกษา 2563 โดยนายศักดิ์ดา จันทร์ปาน (นิสิตสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา) คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา ในฐานะประธานฝ่ายกีฬาและนันทนาการ ได้ดำเนินการจัดโครงการ เด็ก ม.ชวนวิ่งเพื่อน้องครั้งที่ 1 ขึ้น เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 โดยองค์การนิสิตร่วมกับสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดพัทลุง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านควนตะแบก หน่วยงานภาครัฐและเอกชนตลอดจนประชาชนในพื้นที่และนักวิ่งทั่วประเทศเข้าร่วมให้การสนับสนุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ช่วยเหลือน้องๆ นักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านควนตะแบก ตำบลเกาะเต่า อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ชึ่งอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการจัดโครงการครั้งนี้มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมีเงินคงเหลือจำนวน 86,743 บาท มอบเป็นทุนการศึกษาให้นิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณ จำนวน 36,743 บาทและเงินรายได้อีกจำนวน 50,000 บาท ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงใช้สอยเป็นเงินทุนสนับสนุนช่วยเหลือกิจการของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตามพระราชอัธยาศัย มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่มีต่อบัณฑิต จึงได้จัดให้เป็นงานที่สำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวฯ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ และถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในชีวิตของบัณฑิต
พ.ย. 23, 2024 0
พ.ย. 23, 2024 0