Latest update พฤศจิกายน 24th, 2024 11:29 AM
ก.ค. 20, 2022 admin ข่าวสังคม 0
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 65 เวลา 15:00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ระดับอำเภอ กรมการปกครอง รุ่นที่ 1 ภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ ตามโครงการอำเภอนำร่องการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ และบรรยายพิเศษ “ทำไมต้อง “C A S T” (Change Agents for Strategic Transformation (CAST))” หลักสูตร “ผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงระดับอำเภอ” ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ ผอ.สำนักบริหารการปกครองท้องที่ กรมการปกครอง นางสาวอรอุมา วรแสน ผอ.กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันดำรงราชานุภาพ นายอำเภอและภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย รวมจำนวน 210 คน และนายอำเภอที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ 54 อำเภอ จากจังหวัดเพชรบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบ ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา จังหวัดสตูล ร่วมรับฟัง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ขอขอบคุณกรมการปกครองที่ได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพท่านนายอำเภอและทีมงานภาคีเครือข่ายของท่านนายอำเภอในการร่วมกัน Change for Good สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ด้วยการต่อยอดจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ระดับอำเภอ ตามโครงการอำเภอนำร่องการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ ซึ่งท่านนายอำเภอและภาคีเครือข่ายทุกท่านได้แสดงเจตจำนงและเสียสละเวลามาร่วมใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และละลายพฤติกรรมร่วมกันกับทีมงานภาคีเครือข่ายของแต่ละอำเภอ อันประกอบด้วย ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ อันเป็นรูปธรรมที่ทำให้เห็น “จิตใจที่รุกรบและความเสียสละ” ทั้งในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและในฐานะจิตอาสา เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การที่จะทำสิ่งที่ดี ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอ ซึ่งหากทุกอำเภอในประเทศไทยร่วมกันขับเคลื่อน สิ่งที่ดีก็จะเกิดขึ้นเต็มทุกพื้นที่ตารางนิ้วของประเทศไทย “กระทรวงมหาดไทยมีความคาดหวังที่จะเห็นนายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ได้ทำหน้าที่ 1) เป็นนายอำเภอที่ดีของพี่น้องประชาชน นายอำเภอที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ทุ่มเทอุทิศความรู้ ความสามารถ กำลังกาย กำลังใจ ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย นำเอาสภาพปัญหา ความต้องการของพี่น้องประชาชน และเรื่องที่ดี สิ่งที่ดี ที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นไปทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ เรื่อง “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงผลสำรวจปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผ่านแพลตฟอร์ม ThaiQM และระบบ TPMAP และเป้าหมายของรัฐบาลผ่านนโยบายของกระทรวงและกรมต่าง ๆ ที่ลงไปยังจังหวัด/อำเภอทั่วประเทศ ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ สังคม วัฒนธรรม การเข้าถึงบริการของรัฐต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในระบบ และที่อาจยังตกสำรวจ แต่เป็นสิ่งที่ต้องแก้ปัญหาและเร่งพัฒนา โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา มาใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ 2) นายอำเภอต้องเป็นผู้นำที่แท้จริงของพื้นที่อำเภอในฐานะ “นายกรัฐมนตรีของอำเภอนั้นๆ” ทั้งการศึกษา สาธารณสุข ศิลปวัฒนธรรม การอำนวยความเป็นธรรมให้กับพี่น้องประชาชน และการเป็นผู้นำที่อยู่ในหัวใจของพี่น้องประชาชน ด้วยการรับเอางานของทุกกระทรวง ทุกกรม ที่เป็นหน้าที่ของนายอำเภอ เพื่อแสดงให้เห็นว่า “สถาบันนักปกครอง” อันหมายถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เป็นเสาหลักในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนสืบต่อมาถึงปัจจุบัน และ 3) นายอำเภอเป็นเหมือนแม่เหล็กที่สามารถดึงดูดใจภาคีเครือข่ายที่มีจิตอาสาทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันหมายถึง ไม่มีอามิสสินจ้าง ค่าตอบแทน หรือยศถาบรรดาศักดิ์ แต่มี “ใจ” ที่เต็มไปด้วยแรงปรารถนาดีที่อยากเห็นพี่น้องในพื้นที่บ้านเกิดเมืองนอน อยากเห็นคนในอำเภออยู่อย่างมีความสุข มีความรัก ความสามัคคี ในการพัฒนา โดยคำนึงถึงภูมิสังคม จนทำให้การพัฒนานั้นมีความยั่งยืน โดยต้องขอขอบคุณกำลังสำคัญ คือ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่เป็นหลักในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่พวกเราทุกคนมีเจตจำนงร่วมกัน ทั้งนี้ ก้าวแรกที่สำคัญที่สุดของการทำงานเป็นทีมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ “การพัฒนาคน” เพื่อให้คนได้ไป Change for Good สร้างสิ่งที่ดีในพื้นที่ได้ ซึ่งหาก 3 เป้าหมายข้างต้นนี้ถูกขับเคลื่อนอย่างแน่วแน่ มุ่งมั่น ตั้งใจด้วยจิตวิญญาณของนายอำเภอผู้เป็น “ราชสีห์ผู้จงรักภักดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่มีแรงปรารถนา (Passion) ต้องการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ขยายผลองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอบรมให้เป็นรูปธรรมไปสู่พี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ ก็จะทำให้เกิดพัฒนาประเทศชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า ปรากฏการณ์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนทีมงานของท่านนายอำเภอให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งเป็น 2 ทีม กับ 1 รูปแบบ คือ 1) เสริมสร้าง บ่มเพาะ “ทีมอำเภอ” ซึ่งได้มาร่วมอบรมในครั้งนี้ ให้เป็นทีมที่มีใจรุกรบ มีแรงขับเคลื่อนต่ออย่างไม่หยุดยั้ง เกิดเป็น “ทีมที่มีความแข็งแกร่ง” ในพื้นที่ 2) พัฒนาศักยภาพทีมที่เป็นทางการ คือ “คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.)” ที่มีอยู่ทุกหมู่บ้าน ด้วยการปลุกเร้า 5 ทหารเสือของอำเภออันประกอบด้วย ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบล พัฒนากรประจำตำบล เกษตรประจำตำบล สาธารณสุขประจำตำบล ปศุสัตว์ประจำตำบล ฯลฯ ให้เป็นทีมที่มีความเข้มแข็ง ลงไปประชุม พูดคุย ทำสัญญาประชาคมกับคณะกรรมการหมู่บ้านว่า จะมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำหมู่บ้านให้ดีที่สุด และ 1 รูปแบบ คือ ไปขยายผลสร้าง “ทีมตำบล” ให้เกิดขึ้นในทุกตำบลในพื้นที่ โดยแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จะได้มีหลักประกันว่า “นายอำเภอจะมีทีมงานช่วยเหลือในการขับเคลื่อนสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และยิ่งถ้าคณะกรรมการหมู่บ้านได้รับการปลุกกระตุ้นให้มีเข้มแข็งขึ้นมาอีกครั้ง ก็จะเพิ่มทวีคูณแรงแห่งการ Change for Good ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยต้องน้อมนำพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระราชดำริ อาทิ การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เห็นงานราชการเป็นงานสำคัญของแผ่นดิน มีความรู้ทั้งในเรื่องหลักวิชาการ หลักกฎหมาย และเรื่องทักษะในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และรู้ลึกถึงก้นบึ้งของหัวใจในเรื่องของการวินิจฉัยตัดสินปัญหาหรือตัดสินใจว่าจะทำอะไรอยู่บนพื้นฐานของการเป็นคนดี มีคุณธรรม มีเหตุมีผล เพื่อให้ “พี่น้องประชาชนมีความสุข” พร้อมทั้งสืบสานพระปณิธานด้วยอุดมการณ์ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยที่พวกเราจะให้ความรักกับพี่น้องประชาชนมากกว่าการไปใช้อำนาจบาตรใหญ่กับพี่น้องประชาชน และจะมุ่งมั่นทำงานจนรองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด ด้วยการช่วยกันลงพื้นที่เยี่ยมเยียน ผูกมิตร และร่วมคิด ร่วมทำกับพี่น้องประชาชน ไม่นั่งอยู่เฉพาะในห้องทำงาน หรือสำนักงาน และไม่อายที่จะยอมรับความผิดพลาดในการทำงาน การบริหารจัดการ โดยความผิดพลาดนั้นไม่ได้เกิดจากความตั้งใจที่จะทำให้ผิด และไม่ได้เกิดเพราะเราหุนหันพลันแล่นตัดสินใจทำอะไรเพียงลำพัง แต่ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคีเครือข่ายแล้ว และมันผิดพลาด ที่เราพร้อมจะแก้ไขในสิ่งผิด เพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข สืบสานในพระราชปณิธานภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างหลักประกันที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ ไม่ใจร้อน ค่อยเป็นค่อยไป พออยู่ พอกิน พอร่มเย็น และช่วยเหลือตนเองได้ และเมื่อมีเหลือก็เอาไปทำบุญทำทาน แล้วถ้ายังเหลืออีก ก็ให้รู้จักประกันความเสี่ยงให้กับชีวิต ด้วยการถนอมอาหาร แปรรูป ทั้งนี้ เพื่อให้หลักประกันมีอยู่อย่างยั่งยืนโดยแท้ คือ “ต้องมีพวก” มีการรวมกลุ่มคนมีจิตอาสา ซึ่งจะเป็นทางรอดของโลก ที่จะทำให้ประเทศเรามีความเจริญอย่างยั่งยืน แม้จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โรคระบาด หรือความขัดแย้งทางสังคมก็ตาม ด้วยการเปิดใจกว้าง รับสิ่งที่เป็นคำแนะนำ ข้อเสนอแนะ คำวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยหัวใจที่ให้ความเคารพ ทำให้ดวงตาเห็นธรรม นำไปสู่การแก้ไขในสิ่งผิดได้ “สิ่งสำคัญประการสุดท้ายในการขับเคลื่อนให้เกิด “ผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ระดับอำเภอ” คือ นายอำเภอและทีมงานทุกคนต้องทำงานตามหลัก RER อันได้แก่ 1) Routine Job ทำให้สิ่งที่เราทำตามอำนาจหน้าที่ ตามภาระงานปกติ ให้เกิดสิ่งที่ดีอย่างต่อเนื่อง 2) Extra Job คือ ไม่นิ่งดูดายที่จะทำสิ่งที่ดีด้วยหัวใจเพิ่มขึ้นในทุกลมหายใจ จากก้นบึ้งของหัวใจที่อยากทำดี อยากพัฒนา อยากให้ดีขึ้น ๆ อยู่เสมอ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคีเครือข่าย และ 3) Report ด้วยการสื่อสารทุกช่องทาง เป็นภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนด้วยตัวเราเองด้วย โดยใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ สร้างการรับรู้สิ่งที่ดี เชิญชวนให้คนในพื้นที่ร่วมกันทำความดี ร่วมกันบริจาค ร่วมกันช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ตกทุกข์ได้ยากในพื้นที่ อันจะทำให้ทุก ๆ ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนทุกคนรับรู้ และเมื่อทุกพื้นที่ตารางนิ้วมีแต่เรื่องดี ๆ สิ่งดี ๆ ก็จะเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวในช่วงท้ายว่า ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน เรื่องใหญ่ที่ต้องมีคือ แรงปรารถนา (Passion) และทัศนคติ (Attitude) ที่ดี ควบคู่กับความสามารถ (Ability) และความรู้ (Knowledge) ทำงานเป็นทีม (Teamwork) เป็นคนดีของสังคม เพื่อทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible) ให้ทำได้ (I’m possible) คือ ทำในสิ่งที่ดี และคนมีความสุขอย่างยั่งยืน โดยต้องมีคุณธรรมที่สำคัญ “ความอดทน” ดังพุทธชาดก “พระมหาชนก” ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้เตือนสติพวกเราทุกคน ให้มีความเพียรพยายาม และอดทนที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม และขณะเดียวกันขอให้น้อมนำพระบรมราโชวาทที่ทรงสอนให้พวกเราทุกคนได้ช่วยกันทำหน้าที่อันใหญ่ยิ่ง คือ “เราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แต่ต้องช่วยส่งเสริมคนดีให้มีอำนาจ” และรู้จักคิด วิเคราะห์ พิจารณาน้อมนำทฤษฎีใหม่ที่มีมากกว่า 40 ทฤษฎีไปปรับใช้ในพื้นที่ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม และทำให้คนทุกคนทำความดี เพื่อให้ความดีเป็นอาหารบำรุงใจ เป็นผลตอบแทนให้พวกเราสุข คือ “สุขใจ” และช่วยกันรักษาเยื่อใยแห่งความรัก ความปรารถนาดีต่อผู้อื่นให้เหนียวแน่นมั่นคง มุ่งมั่นขับเคลื่อนเพื่อที่จะให้การจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนขับเคลื่อนฯ การสร้างตัวแบบนโยบายและขยายผลการบริหารจัดการน้ำและลดความเสี่ยงจากอุทกภัย การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน อันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ขับเคลื่อนไปสู่พี่น้องประชาชนให้กว้างขวางมากขึ้น ด้วยความรัก สามัคคี และอุดมการณ์ที่แน่วแน่ของทุกท่าน เป็นทีมแห่งการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงเพื่อ “ความสุขที่ยั่งยืนของพี่น้องประชาชน” ให้สำเร็จตามเป้าหมายของพวกเราทุกคน
#สำนักข่าวภูมิภาค#โอดี้NEWSรายงาน#โอดี้FMมีเดียประเทศไทย
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
เม.ย. 01, 2022 0
พ.ย. 24, 2024 0