Latest update พฤศจิกายน 24th, 2024 11:29 AM
มิ.ย. 28, 2022 admin ข่าวสังคม 0
วันนี้ (27 มิ.ย. 65) เวลา 13.30 น. ที่ห้อง War Room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ระดับอำเภอ กรมการปกครอง รุ่นที่ 1 ภาคกลางและภาคตะวันออก ตามโครงการอำเภอนำร่องการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ และบรรยายพิเศษ “ทำไมต้อง “C A S T” (Change Agents for Strategic Transformation (CAST))” หลักสูตร “ผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงระดับอำเภอ” ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ ผอ.สำนักบริหารการปกครองท้องที่ นายอำเภอและภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย รวมจำนวน 180 คน และนายอำเภอที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ขอขอบคุณกรมการปกครองที่ได้ให้ความสำคัญกับตำแหน่งนายอำเภอและทีมงานภาคีเครือข่ายของนายอำเภอในการร่วมกัน Change for Good สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ด้วยการต่อยอดจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ระดับอำเภอ ตามโครงการอำเภอนำร่องการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ อันเป็นการเสริมสร้างพลังความมุ่งมั่นตั้งใจให้กับนายอำเภอผู้เป็นขุนศึกของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจิตอาสาที่มาร่วมเป็นทีมนายอำเภอ ตั้งอกตั้งใจช่วยกันสร้างผลงานในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง เพราะ “สถาบันนักปกครอง” ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เป็น “ผู้นำ” ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน และรักษาประเทศชาติของเราให้มีเอกราช มีความสงบสุข ผู้คนมีความรัก ความสามัคคี เสมอมา ตลอดระยะเวลา 130 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งหนึ่งที่นักปกครองทุกท่านจะเป็นต้องทำเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ นั่นคือ ต้องรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนเพื่อนำมาทบทวนหาข้อสรุปและความคาดหวังของประชาชน ทำให้ปีที่ 131 132 หรืออีกหลายร้อยปีข้างหน้า คนมหาดไทยทุกคนจะเป็นผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เป็นที่พึ่งพาของพี่น้องประชาชนตลอดไป
“ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอคือผู้ที่มีความสำคัญที่สุดในการเป็นโซ่ข้อกลางนำเอานโยบายของรัฐบาล และทุกกระทรวง กรม เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ (Area Based) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานการปฏิบัติในส่วนภูมิภาค และประสานงานร่วมกับท่านผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มมากขึ้น มีความทุกข์ลดลงจนหมดไป ภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรทางการบริหาร และขณะเดียวกันก็ต้องทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลาง ในการรับฟังปัญหาความต้องการเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เพื่อนำไปสู่การรับรู้ของส่วนกลางและรัฐบาลในการวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนในทุกมิติ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวย้ำในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่นายอำเภอและภาคีเครือข่ายทุกท่านน้อมนำมาเป็นหลักในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันอันเป็นแบบอย่างเพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการทำงาน นั่นคือ พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระราชดำริ อันได้แก่ “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “คนดีของฉันรึ จะต้องเป็นคนดีที่ไม่พูดปด ไม่สอพลอ ไม่อิจฉาริษยา ไม่คดโกง และไม่มีความทะเยอทะยานอย่างบ้าๆแต่พยายามทำหน้าที่ของตนให้ดี ในขอบเขตของศีลธรรม” ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “งานราชการนั้น คืองานของแผ่นดิน ข้าราชการจึงต้องสำเหนียก ตระหนักอยู่ตลอดเวลา ถึงฐานะและหน้าที่ของตน แล้วตั้งใจปฏิบัติงานทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ด้วยความสุจริตเที่ยงตรง และด้วยความมีสติยั้งคิด รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรกระทำ สิ่งใดควรงดเว้น เพื่อให้งานที่ทำ ปราศจากโทษเสียหาย และบังเกิดผลประโยชน์ที่แท้ คือ ความเจริญมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ “งานราชการนั้น ต้องอาศัยความรู้ 3 ส่วนในการปฏิบัติ คือความรู้ในหลักวิชาที่ถูกต้อง แม่นยำ ลึกซึ้ง กว้างขวาง ความรู้ในการปฏิบัติบริหารงานตามภาระหน้าที่ และความรู้คิดวินิจฉัยที่ถูกต้องด้วยเหตุผล หลักวิชา และหลักธรรม ข้าราชการทุกคนจึงต้องสร้างสมอบรมความรู้ทั้งสามส่วนนี้ ให้สมบูรณ์พร้อม อย่าให้บกพร่องในส่วนใดเป็นอันขาด จะได้สามารถปฏิบัติงานให้บรรลุผลเป็นประโยชน์ที่แท้ทั้งแก่ประเทศชาติและประชาชน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้กับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยไว้ว่า “..หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย พูดอย่างรวบรัดคือการอำนวยความสุขสวัสดีแก่ทวยราษฎร์ และการอำนวยความสุขสวัสดีที่ทำอยู่นั้น อาจจำแนกตามประเภทงานได้เป็น 4 ด้าน คือ การอำนวยความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การพัฒนาอาชีพและฐานะความเป็นอยู่ การพัฒนาจิตใจให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยความสุขและความสามัคคีปรองดอง และการให้การศึกษาเพื่อสร้างอนาคตที่แจ่มใส..” ซึ่งทุกองค์ล้วนสะท้อนครอบคลุมแนวทางการทำงานที่พวกเราทุกคนต้องสร้างสมองค์ความรู้ ทั้งหลักการบริหารงาน หลักวิชาการที่ถูกต้อง รู้จักคิด วินิจฉัย วางแผน รู้จักทำงานเป็นทีม ด้วยการน้อมนำหลักการทรงงาน “บวร” “บรม” “ครบ” อันหมายถึงการบูรณาการร่วมกันระหว่าง บ้าน ศาสนสถาน และราชการ ในการที่จะนำมาซึ่งแนวทางที่ถูกต้องในการทำงานเพื่อความสุขของพี่น้องประชาชน หรือแม้แต่หากเราทำงานผิดพลาด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นแนวทางในการมุ่งมั่นแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดด้วยหลักความรู้คู่คุณธรรม และมีเป้าหมายในการที่จะสร้างสรรค์ให้ประเทศชาติของเรามั่นคง ทำให้ประชาชนทุกคนมีความสุขตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
“นายอำเภอคือผู้นำสูงสุดของอำเภอ ที่ต้องใช้ภาวะผู้นำดึงดูดหลอมรวมจิตใจภาคีเครือข่าย มาร่วมไม้ร่วมมือขับเคลื่อนงานตามภูมิสังคม ซึ่งหลักใหญ่ คือ ทุกคนต้องมี “ใจ” ที่อยากช่วยกันบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอ เป็นทุกอย่างของประชาชน โดยต้องโน้มตัวลงไปเข้าหาพี่น้องประชาชน ดังรวงข้าวที่สุกโน้มลงหาแม่พระธรณี เมื่อเจอลมพัดมาก็ไม่หักไม่โค่น เพราะ “น้ำใจไมตรีของพี่น้องประชาชน” จะเป็นใยเหล็กที่เสริมสถานะของท่านนายอำเภอและพี่น้องมหาดไทยให้อยู่ในหัวใจของประชาชน และพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานทั้งในทางตรงและทางอ้อม โดยนายอำเภอและทีมงานประจำตามอำนาจหน้าที่ (Routine Team) อันได้แก่ ทีมท้องที่ คือ คณะกรรมการหมู่บ้าน และทีมท้องถิ่น คือ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงทีมพิเศษ (Extra Team, Special Team) คือ ทีมผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ต้องเป็นทีมที่แข็งแกร่ง มีสมรรถนะ มีความปรารถนาที่มุ่งมั่นในการทบทวนและเพิ่มเติมอุดมการณ์ความเข้มข้นของคนมหาดไทยที่เป็นคนของประชาชน และช่วยกันผลักดันขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญ ทั้งภารกิจประจำ (Routine Job) และภารกิจพิเศษ (Flagship Project, Extra Job) เพื่อเป้าหมายคือ “สร้างความสุขให้พี่น้องประชาชนเพิ่มขึ้น ทำให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นคง ยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อของ UN และต้องสื่อสารกับคนในสังคม ทั้งคนในองค์กร ในจังหวัด ในอำเภอ และผู้บังคับบัญชาในระดับกระทรวง ทบวง กรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนทั่วไป ได้รับรู้รับทราบ และเป็นผู้นำเริ่มต้นทำสิ่งที่ดี ตามหลักการ “ผู้นำต้องทำก่อน” เพื่อทำให้เกิดการตื่นตัว เป็นวัฏจักรตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ ความต้องการ (Demand side) ไปผลักดันการผลิต (Supply side) ให้มีความยั่งยืน เช่น การรณรงค์สวมใส่ผ้าไทย ตามโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ด้วยการสวมใส่เป็นตัวอย่างให้พี่น้องประชาชนได้เห็นและสวมใส่กันทั้งอำเภอ และพัฒนาผู้ประกอบการ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ทั้งเรื่องวัตถุดิบ ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ไม่ใช้สีเคมีในการย้อมผ้า เพื่อไม่ให้คนย้อมผ้าได้รับสารเคมีซึมซับในร่างกาย และพัฒนาต่อยอดให้มีความหลากหลาย เป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามพระราชดำริ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวในบ้านพัก และร่วมกับภาคีเครือข่ายปลูกในบ้าน อาคารสถานที่ราชการ รวมถึงพื้นที่สาธารณะภายในหมู่บ้านชุมชน เพื่อเป็นตัวอย่างให้พี่น้องประชาชนได้ปลูกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนของตนเอง เป็นต้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ท่านนายอำเภอและทีมงานจะทำให้บรรลุตามเป้าหมายและอุดมการณ์ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขได้ คือ ต้องดึงเอาความรู้ (Knowledge) ความสามารถ (Ability) และทัศนคติ (Attitude) ที่ดี ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible) เป็นสิ่งที่ “ฉันทำได้” (I’m Possible) ด้วยใจที่เปิดกว้าง นำเอาความรู้ความสามารถของทุกคนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ (Open mind) และความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคีเครือข่าย เพราะประชาชนกำลังประสบกับปัญหาความเดือดร้อนจำนวนมากที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ทั้งความยากจน ปัญหาน้ำเน่าเสีย ไม่มีน้ำดื่ม ไม่มีน้ำใช้ ฯลฯ ลงมือสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดมรรคเกิดผล คือ “ความสุขของประชาชนในพื้นที่” โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา และทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สนองพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข
“ขอให้ท่านนายอำเภอมีกำลังใจในการทำให้ตำแหน่งนายอำเภอซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของอำเภอมีความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นรูปธรรม ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความยากจน ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยทำให้พื้นที่ทุกตารางนิ้วในอำเภอเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายสหประชาชาติและอุดมการณ์มหาดไทยที่อยากให้พี่น้องประชาชนได้พ้นจากความทุกข์ ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มมากขึ้น มีความมั่นคง ยั่งยืน ที่มีหัวใจอยู่ที่พี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนและทุกภาคส่วน ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน รัก ผูกพันกับท่านนายอำเภอ รวมถึงคณะรัฐมนตรีของอำเภอ อันประกอบด้วย ปลัดอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อที่จะได้จารึกไว้ในจิตวิญญาณของพวกเราทุกคนว่า เราได้ทำหน้าที่ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ดี ทำหน้าที่ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน คือ “ประเทศไทยของเรา” ได้อย่างดี ไม่เสียชาติเกิด ไม่เสียโอกาสที่พวกเราได้มาเป็นทีมผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงระดับอำเภอที่มีหัวใจอยู่ที่ “พี่น้องประชาชน”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย #สำนักข่าวภูมิภาค#โอดี้NEWSรายงาน#โอดี้FMมีเดียประเทศไทย
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
เม.ย. 01, 2022 0
พ.ย. 24, 2024 0