Latest update พฤศจิกายน 21st, 2024 3:00 PM
มิ.ย. 10, 2022 admin ข่าวสังคม 0
วันนี้ (10 มิ.ย. 65) เวลา 15.15 น. ที่รอยัลจูบิลี่บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ “การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล รองประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัด ผู้แทนกรุงเทพมหานคร หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด และคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด ทุกจังหวัด ร่วมรับฟัง
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการดูแลประชาชนทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ขางหลัง และได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศจพ. โดยมีโครงสร้างตั้งแต่ระดับประเทศ คือ ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีทุกกระทรวงเป็นกรรมการ โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นอนุกรรมการขับเคลื่อน ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ศจพ.จังหวัด และ “นายอำเภอ” เป็นประธาน ศจพ.อำเภอ มีทีมปฏิบัติการตำบล และ “ทีมพี่เลี้ยง” โดยทีมพี่เลี้ยง 1 ทีมรับผิดชอบ 10-15 ครอบครัว ลงไปคุย ไปสำรวจ (Re X-ray) ข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนของครัวเรือนเป้าหมายในระบบ TPMAP ทั้งทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร และทางออก เพื่อค้นหาเป้าหมายที่แท้จริงใน 5 มิติ ทั้งมิติสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษา การทำมาหากิน (รายได้) และการเข้าถึงการบริการภาครัฐ ซึ่งเมื่อมีข้อมูลที่เป็นเป้าหมายแล้ว ก็จะเข้าสู่การแก้ปัญหาโดย ศจพ.อำเภอ ด้วยการประสานทุกกระทรวง ทบวง กรมที่มีอำนาจหน้าที่ ปรับแผนงาน/โครงการช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนทุกเรื่อง เช่น คนไม่มีความรู้ด้านเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็เข้าไปแก้ ทั้งพืชไร่ พืชสวน ประมง นา ไม่มีความรู้เรื่องช่างฝีมือแรงงานก็กระทรวงแรงงานไปแก้ แต่ถ้าไม่มีเงิน ก็มีกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนวิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน ตามเป้าหมายการแก้ปัญหาความยากจน 3 ขั้นตอน คือ “อยู่รอด พอเพียง ยั่งยืน” โดยทุกครั้งที่ลงไปสำรวจ ลงไปแก้ปัญหา หรือติดตามพัฒนาก็จะลงบันทึกข้อมูลในระบบ Log Book อันจะทำให้เรามีข้อมูลจำนวนมากในลักษณะ Big Data เป็นทิศทางว่าเราจะต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหา หรือส่งเสริมพัฒนากำลังคนของประเทศอย่างไร อะไรต้องทำต่อ อะไรต้องคิดต่อ ซึ่งลักษณะเหล่านี้ คล้ายกับการเรียนหนังสือในห้องเรียนที่ครูก็จะสอนหนังสือและติดตามพัฒนาการของเด็กนักเรียน ถ้าอะไรที่ยังไม่เข้าใจก็สอนเสริม ให้เกร็ดความรู้เพิ่มเติม กระทั่งสามารถสอบผ่าน และที่ยิ่งไปกว่านั้น ครูยังคงติดตามเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน
“การแก้ปัญหาความยากจนเป็นเรื่องของการให้โอกาสคนที่อ่อนแอหรืออ่อนด้อยกว่าได้รับการพัฒนาทักษะ ความรู้ ทัศนคติ เพื่อให้เขาสามารถต่อยอดในการประกอบสัมมาชีพหรือวิธีการใด ๆ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามหลักพึ่งพาตนเอง และที่ต้องกำหนดว่าต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 เนื่องจากรัฐบาลมีเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยเมื่อทุกปัญหาได้รับการแก้ไขทำให้ดีขึ้นแล้ว หากพ้นจากกำหนดวันดังกล่าว ทีมพี่เลี้ยงก็ยังคงดำเนินการติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนเป้าหมายต่อไป ไม่ทิ้งหรือปล่อยเขาไว้โดยลำพัง เพราะรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และยังคงเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นอีกหนึ่งทีมงานที่มีความสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชนตามอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของกองทุน ที่สามารถไปช่วยพัฒนาทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ และเรื่องอื่น ๆ ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น มีโอกาสที่ดีขึ้น ให้เขาได้ลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งคนอาจจะไม่เก่งความรู้ แต่เขาอาจจะปฏิบัติตามทักษะได้ดีและอาจจะเป็นเศรษฐีได้ด้วยฝีไม้ลายมือของเขาจากเงินกองทุนฯ และเชื่อมั่นว่า “สตรี” จะแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติได้ เพราะความคิดของสตรีและบุรุษเท่ากัน ไม่มีช้างเท้าหน้าไม่มีช้างเท้าหลัง แต่เราจะต้องเดินหน้าใช้ความคิดและทำไปด้วยกัน และขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ พัฒนากร ทีมปฏิบัติการตำบล ทีมพี่เลี้ยง รวมถึงทุกภาคีเครือข่ายที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และขอให้ทุกท่านยังคงพุ่งเป้าลงไปแก้ไขช่วยพัฒนาครัวเรือนเป้าหมายให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน #สำนักข่าวภูมิภาค#โอดี้NEWSรายงาน#โอดี้FMมีเดียประเทศไทย
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0