Latest update พฤศจิกายน 22nd, 2024 5:48 PM
พ.ค. 26, 2022 admin ข่าวสังคม 0
วันนี้ (26 พฤษภาคม 2565) เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ณ ห้อง Fuji โรงแรม Imperial พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวปาฐกถาในการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบนายกรัฐมนตรีมาเลเซียซึ่งท่านได้มาร่วมรับฟังปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมฯ และขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น นายกรัฐมนตรีตั้งใจมาร่วมการประชุมด้วย 4 เหตุผลหลัก 1) ไทยเชื่อว่าญี่ปุ่นเป็นมิตรแท้ของไทยเสมอมา นายกรัฐมนตรีคิชิดะได้เยือนไทยและประเทศในอาเซียนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อเนื่องทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์และมิตรภาพกว่า 135 ปี ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น 2) ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญอันดับ 2 ของไทย และมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เหนียวแน่น นับตั้งแต่ได้จัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น หรือ JTEPA และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งในปี 2564 การค้าระหว่างกันมีมูลค่าสูงกว่าหกหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน คิดเป็นเกือบร้อยละ 30 ของมูลค่าFDI ทั้งหมดของไทยในปีที่แล้ว นอกจากนี้ จากที่ RCEP มีผลใช้บังคับเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นการเจริญเติบโตทางการค้าที่มหาศาลระหว่างประเทศสมาชิก
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐบาล นักธุรกิจ และนักลงทุนญี่ปุ่นที่เชื่อมั่นศักยภาพ สนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไทยยินดีต้อนรับการลงทุนจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งนี้ มีความเจริญเติบโตของ FDI จากไทยไปยังญี่ปุ่นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งหวังว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนในสาขาพลังงานทดแทน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุน และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีแก่นักลงทุนไทย
และ 3) นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ซึ่งญี่ปุ่นเป็นสมาชิกที่แข็งขัน ในปีนี้ซึ่งตรงกับที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน และอินโดนีเซียเป็นประธาน G20 ประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณของความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสริมสร้างความเข้มแข็ง ความน่าเชื่อถือ และบทบาทของอาเซียน ในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคและของโลกต่อไป ซึ่งไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมร่วมมือในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้น โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะในโอกาสการฉลองความสัมพันธ์ 50 ปีระหว่าง อาเซียนกับญี่ปุ่นในปีหน้า และ 4) นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าโลกกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทาย การเข้าร่วมประชุมในเวทีแห่งนี้ทำให้ได้แบ่งปันมุมมองของไทยและรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคเอกชน
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงหัวข้อหลักของการประชุม ต่อคำถามว่าเอเชียจะมีบทบาทอย่างไรได้บ้างเมื่อช่องว่างขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกมิติ เอเชียจะมีส่วนในการสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งในทุกด้านได้อย่างไร และคำตอบคือ เอเชียจะต้องยืดหยุ่นต่อการปรับตัว เอเชียจะต้องสนับสนุนความยั่งยืน จะต้องสร้างสังคมที่ครอบคลุมมากขึ้น เพราะสองปีที่ผ่านมาได้สอนให้รู้ว่า ความยืดหยุ่นเพื่อปรับตัวต่อความชะงักงันใด ๆ เป็นพื้นฐานในการประคับประคองตนเอง การเจริญเติบโตจะไม่มีความหมายหากไม่มีความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทปัจจุบันที่การเติบโตเปราะบางมาก นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งและก้าวไปสู่ความยั่งยืน และนายกรัฐมนตรีได้แบ่งปันมุมมองของไทย 3 สิ่งที่เชื่อว่าเอเชียจะร่วมกันทำได้เพื่อก้าวข้ามสถานะปัจจุบัน มุ่งให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
พ.ย. 22, 2024 0
พ.ย. 22, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0