Latest update พฤศจิกายน 22nd, 2024 5:48 PM
พ.ค. 25, 2022 admin ข่าวสังคม 0
วันนี้ (25 พ.ค. 65) เวลา 09:00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามภารกิจรัฐบาลและสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 6/2565 โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขตตรวจราชการที่ 5 และ 18 นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขตตรวจราชการที่ 1 ที่ปรึกษาระดับกระทรวง พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับนายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย หัวหน้าสำนักงานจังหวัด และผู้อำนวยการกลุ่มงานในสังกัดสำนักงานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำในช่วงต้นว่า คนมหาดไทย ต้องมีชีวิตจิตใจที่รุกรบ ต้องทำงานเร็ว หนักเอาเบาสู้ ทุ่มเทอุทิศกาย ใจ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือประเทศชาติ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้อยู่ในสายโลหิต ในทุกลมหายใจ และส่งต่ออุดมการณ์การเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทุกเวลานาทีมีแต่ความคิดที่จะช่วยเหลือประชาชน ด้วยการถ่ายทอด อบรม กล่อมเกลา ทั้งข้าราชการเก่า ข้าราชการใหม่ ให้ได้ตระหนักและสำนึกในหน้าที่ของการเป็นข้าราชการเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร จะเกิดโรคระบาด หรือสถานการณ์ใด ๆ ข้าราชการยังมีเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ราชการดูแล ซึ่งเราจะมีความสุขไม่ได้ เพราะพี่น้องประชาชนยังเดือดร้อนทุกข์ยากอยู่ จึงจำเป็นที่ทุกคนต้องช่วยกันระดมสติปัญญา ความสามารถ และความมีน้ำใจ ทำงานเป็นทีม สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ มีระบบการติดตามเรื่องต่าง ๆ เป็นดั่งเทียนไขที่ให้ความร้อนเผาผลาญตนเอง ด้วยความเสียสละ ประดุจดั่งสีพระศอของพระศิวะที่ได้กลืนน้ำอมฤตเพื่อปกป้องมวลมนุษยชาติจนกลายเป็นปาน “สีดำ” ซึ่งเป็นสีประจำกระทรวงมหาดไทยของพวกเราทุกคน โดยต้องระลึกเสมอว่าความสำเร็จของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขจะเกิดขึ้นได้ อยู่ที่ตัวคนมหาดไทย ใจคนมหาดไทย ที่มีเป้าหมายให้บังเกิดการ Change for Good สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน
จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนดำเนินงาน โดยกล่าวว่า ในขณะนี้เรื่องที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน นั่นคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่แม้ว่าสถานการณ์จะมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง และประเทศไทยอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่การเป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็ยังพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม 608 คือ กลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงให้ทุกจังหวัดน้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รณรงค์ให้คนในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้ได้รับฉีดวัคซีนตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนได้ตระหนักแต่ไม่ตระหนก และไม่ประมาทในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล DMHTA ได้แก่ เว้นระยะห่างระหว่างกัน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์ตลอดเวลา ตรวจวัดอุณหภูมิ และใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะ รวมทั้งพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้เป็นประจำ เพื่อห่างไกลจากโรคโควิด-19 และได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1) ทำนุบำรุงและดูแลรักษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดที่เคยเป็นสถานที่อันเนื่องในพระราชพิธี รวมถึงเคยเป็นสถานที่เสด็จพระราชดำเนิน ให้มีความสวยงาม สมบูรณ์ สมพระเกียรติ เป็นแหล่งเรียนรู้ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึงความภาคภูมิใจของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนั้น ๆ และพิจารณาจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ การจัดเสวนาหรือบรรยายทางวิชาการโดยปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และความภาคภูมิใจให้กับเด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้เกิดความหวงแหนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และรักษาไว้ให้อยู่คู่บ้านคู่เมือง 2) การรวบรวมและประมวลภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ที่เคยเสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจบริเวณพื้นที่จังหวัดในวาระต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดคุณค่าทั้งทางตรง คือ เสริมสร้างความภาคภูมิใจของคนในจังหวัดและเป็นเกียรติประวัติของจังหวัด และคุณค่าทางอ้อม คือ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจฐานราก กระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัด 3) การเตรียมการจัดกิจกรรมเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2565 ให้เป็นไปตามแนวทางของสำนักนายกรัฐมนตรี และสมพระเกียรติ ทั้งการตกแต่งอาคารสถานที่ ประดับธงชาติและธงตราสัญลักษณ์พระนามาภิไธย ส.ท. การลงนามถวายพระพรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การจัดพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล พิธีถวายพระพรชัยมงคล กิจกรรมสาธารณกุศลต่าง ๆ เช่น กิจกรรมบริจาคโลหิต การทำจิตอาสาพัฒนาต่าง ๆ และการจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เพื่อร่วมแสดงความจงรักภักดีและเกิดความเป็นสิริมงคลกับตัวเราและประเทศชาติ 4) โครงการปลูกต้นไม้ประจำจังหวัดและต้นไม้ในพุทธประวัติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2565 ณ วัดบางหลวงหัวป่า (วัดร้าง) ต.สวนพริกไทย อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี ด้วยการปลูกต้นไม้ประจำจังหวัดทั้ง 77 ต้น และต้นไม้ในพุทธประวัติ เป็นโอกาสที่จะได้ร่วมกันตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน สอดคล้องกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ซึ่งนับเป็นการปฏิบัติบูชาที่ยั่งยืน เพราะต้นไม้ทุกต้นจะเกื้อกูลประโยชน์ทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการศึกษาหาความรู้ของเด็ก เยาวชน และประชาชนในสังคม
ในด้านการบริหารจัดการและด้านงบประมาณ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ให้เป็นไปตามแนวทางของกรมบัญชีกลาง และจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ราคามาตรฐานของสำนักงบประมาณควบคู่กับการพิจารณาด้านความพร้อม ความเหมาะสม ความคุ้มค่า ความตรงไปตรงมา และประโยชน์ที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง และได้เน้นย้ำถึงการขับเคลื่อนการทำงานของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยข้าราชการและบุคลากรที่อยู่ในสำนัก กอง ศูนย์ กลุ่ม สำนักงานจังหวัด เดียวกัน ต้องมีองค์ความรู้ในการทำงานเท่ากัน ดังนั้น สิ่งใดที่เป็นข้อสั่งการ ข้อเสนอแนะ เนื้องาน ของบุคลากรแต่ละคน กลุ่ม ส่วน ทุกคนต้องมีความรู้เท่ากัน “ทำงานเป็นทีม” มุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติราชการด้วยหัวใจคนมหาดไทย ที่มีความปรารถนา (Passion) ทุ่มเท มีน้ำใจที่จะช่วยเหลืองานของทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย เพื่อบังเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ด้วยการช่วยกัน “ติชม เสนอแนะ ลงมือทำ เมื่อมีประชาชนติดต่อ หรือหน่วยงานติดต่อ ก็สามารถตอบได้” รวมทั้งถอดบทเรียนการทำงานเพื่อให้ได้คิด ทบทวน เรียนรู้ กระบวนการทำงานที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขยายผลไปยังส่วนราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ในพื้นที่จังหวัด และต้องสื่อสารสังคมสร้างการรับรู้กับพี่น้องประชาชนผ่านช่องทางสื่อในพื้นที่ เช่น วิทยุกระจายเสียง หอกระจายข่าว เป็นต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลในการดำเนินโครงการที่เป็นการแก้ไขความทุกข์ยากลำบากของพี่น้องประชาชนที่สำคัญ ได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านไกลศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ซึ่งในขณะนี้ ท่านนายอำเภอในฐานะแม่ทัพได้ขับเคลื่อนนำขุนศึก คือ ข้าราชการและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ลงสำรวจ (Re X-Ray) ข้อมูลเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนที่ยากจนและได้รับความเดือดร้อนทุกเรื่องผ่านแพลตฟอร์ม ThaiQM ไปแล้วจำนวน 12 ล้านครัวเรือนจาก 17 ล้านครัวเรือน ซึ่งสำนักงานจังหวัดต้องให้ข้อมูลกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการลงพื้นที่ติดตามการสำรวจข้อมูลและการแก้ไขปัญหาความยากจนเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนครัวเรือนเป้าหมาย และสนับสนุนบทบาทของนายอำเภอในการค้นหาเป้าหมายให้พบมากที่สุด เพื่อมีฐานข้อมูลที่ถูกต้องในการช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการทำงานแก้ไขปัญหาตามภูมิสังคม ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด คือ 30 ก.ย. 2565 สำหรับกรณีที่ดำเนินการแล้วแต่ยังไม่ครบถ้วน 100% ให้นำฐานข้อมูลนี้ในการสานงานต่อให้สำเร็จ เพราะมันเป็นหน้าที่ของพวกเราชาวมหาดไทยที่มุ่งมั่นตั้งใจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนคนที่เดือดร้อน 2) การขับเคลื่อนจัดตั้งศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยสำนักงานจังหวัดต้องให้ข้อมูลกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดประกอบการพิจารณาว่าพื้นที่ใดจะสามารถเปิดเป็นศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเพื่อดูแลรักษาผู้ติดยาเสพติดซึ่งเป็น “ผู้ป่วย” ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ให้ได้รับการรักษา “คืนคนดีกลับสู่สังคม” ซึ่งอย่างน้อยต้องมี 878 ศูนย์ หรืออำเภอละ 1 ศูนย์ โดยให้มีจิตอาสาที่ผ่านการฝึกอบรม เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล กรรมการหมู่บ้าน พระสงฆ์ ครูเกษียณอายุ และข้าราชการในพื้นที่ ร่วมบริหารจัดการ และขอรับการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และผู้มีความรู้ด้านบำบัดฟื้นฟู จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อำเภอ หรือปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ 3) วางระบบ “สายด่วนเลิกยาเสพติด” ศูนย์ดำรงธรรม 1567 ทั้งระบบบันทึกข้อมูล การส่งต่อข้อมูล การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากยาเสพติดทั้งเหตุฉุกเฉิน เช่น คลุ้มคลั่ง และทั่วไป เช่น การบำบัดรักษา และ 4) การขับเคลื่อนโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ และสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย โดยสำนักงานจังหวัดต้องสนับสนุนข้อมูลผู้ว่าราชการจังหวัดในการดำเนินการคัดเลือกอำเภอนำร่องจังหวัดละ 1 อำเภอ รวม 76 อำเภอ เพื่อสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงที่เน้นการบูรณาการในระดับพื้นที่ เสริมงสมรรถนะการทำงานแบบบูรณาการและสร้างเครือข่ายกำลังคนคุณภาพระหว่างหน่วยงานในระดับพื้นที่ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมผ่านการลงมือปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่ ด้วยการเรียน สืบสาน น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” สู่การปฏิบัติอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน #สำนักข่าวภูมิภาค#โอดี้NEWSรายงาน#โอดี้FMมีเดียประเทศไทย
พ.ย. 22, 2024 0
พ.ย. 22, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0