Latest update เมษายน 2nd, 2025 2:32 PM
มี.ค. 20, 2025 admin Gallery 0
วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๘) เวลา ๑๗.๒๔ น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ ๑ และทางวิ่งเส้นที่ ๓ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ณ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ ๑ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุรรณภูมิ พร้อมข้าราชการระดับสูง และเจ้าหน้าที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เฝ้า ฯ รับเสด็จ จากนั้นเสด็จฯ ไปยังมณฑลพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดรูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ทรงศีล แล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมตรี เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตร แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี แล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐนตรี กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมา และวัตถุประสงค์โนการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ ๑ และทางวิ่งเส้นที่ ๓ ท่าอากาศยานสุวรรรณภูมิ และกราบบังคมทูลเบิกนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) กราบบังคมทูลเบิกผู้ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำเร็จตามเป้าหมาย เข้าเฝ้า ฯ รับพระราชทานของที่ระลึก ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เสด็จ ฯ ไปยังแท่นทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ ๑ และทางวิ่งเส้นที่ ๓ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งถ่ายทอดสดผ่านจอ LED ภายในอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ ๑ โดยประกอบภาพกราฟิกทางวิ่งเส้นที่ ๓) เสร็จแล้วเสด็จ ฯ ไปทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก แล้วพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้ให้การสนับสนุน โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำเร็จตามเป้าหมาย ตามลำดับ และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯถวายของที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายของที่ระลึก แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายเงินในนามบริษัท ท่าอากากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายแผ่นศิลาเพื่อทรงลงพระปรมา และทรงลงพระนามาภิไธย การนี้ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิโธยในแผ่นศิลา แล้วเสด็จ ฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ เสด็จออกจากมณฑลพิธี จากนั้น เสด็จฯไปทอดพระเนตรนิทรรศการ “คมนาคมรวมใจ นำไทยสู่ศูนย์กลางการบิน และแบบจำลองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเต็มรูปแบบ” อาทิ นิทรรศการเกี่ยวกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการบริหารจัดการน้ำบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และพระปรีชาสามารถด้านการบิน และพระมหากรุณาธิคุณต่อการบินไทย และนิทรรศการ พระปรีชาสามารถด้านการบิน และพระ มหากรุณาที่คุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อการบินไทย โดยเมื่อปี ๒๕๔๗ ทรงศึกษาและฝึกฝนการบินอย่างจริงจัง จนทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพานิชย์ตรี และนักบินพานิชย์เอก จากกรมการขนส่งทางอากาศ ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๘ ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรกัปตัน และเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตำแหน่งนักบินที่ ๑ ถึงแม้จะทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย แต่ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการบินอย่างสม่ำเสมอ ทรงมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับการบินพานิชย์ และพระราชทานพระราชดำริในการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการบินในหลายด้าน ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดเที่ยวบินพิเศษมหากุศล กรุงเทพ ฯ – เชียงใหม่ – กรุงเทพ ฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทานให้แก่โรงพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทรงขับเครื่องบินพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง และในโอกาส ๕๐ ปี ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ ๑ ในเที่ยวบินพิเศษมหากุศล นำพุทธศาสนิกชนเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถาน ณ พุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย โดยรายได้ไม่หักค่าใช้จ่ายจากเที่ยวบินดังกล่าว ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมทบทุนมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน ฯ (ม.ท.ศ) และกองทุนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีบังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตมางกูร เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งยังพระราชทานพระราชดำริในการปรับปรุงเครื่องแบบนักบินของบริษัท ฯ กับพระราชทานพระราชดำริให้ติดตั้งระบบเตือนฟ้าผ่าในพื้นที่ปฏิบัติงานของบริษัท ฯ โดยใช้อุปกรณ์ตรวจวัดระดับความเข้มของประจุไฟฟ้า และติดตั้งระบบป้องกันฟ้าผ่าและจุดต่อกราวนด์ในหลุมจอดอากาศยานระยะไกล เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่ ด้วยพระปรีชาสามารถด้านการบินพาณิชย์ของพระองค์แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรและการบินของไทยเป็นล้นพ้น เมื่อทอดพระเนตรนิทรรศการเสร็จแล้ว เสด็จ ฯ ไปยังบริเวณฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม, คณะกรรมการ และผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อถึงเวลาอันสมควร เสด็จ ฯ ไปยังรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีพื้นที่ประมาณ ๒๐,๐๐๐๐ ไร่ รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการมาตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๐๓ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อท่าอากาศยาน ว่า “สุวรรณภูมิ” อันมีความหมายว่า “แผ่นดินทอง” เพื่อให้สมกับความยิ่งใหญ่และเรืองรองของท่าอากาศยานแห่งใหม่นี้ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยเปิดให้บริการตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา ซึ่งมีปริมาณผู้โดยสารและปริมาณการจราจรทางอากาศเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ จึงใด้ดำเนินการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปีงบประมาณ ๒๕๕๔ – ๒๕๖๐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร จากเดิม ๔๕ ล้านคนต่อปี เป็น ๖๐ ล้านคนต่อปี ด้วยการก่อสร้างอาคารเทียบหลังที่ ๑ มีลักษณะเป็นอาคาร ๔ ชั้น มีพื้นทีประมาณ ๒๑๖,๐๐๐ ตารางเมตร มีหลุมจอดอากาศยานประชิดอาคารอีก ๒๘ หลุมจอด โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งเปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๖ อาคารเทียบหลังที่ ๑ ยังได้รับรางวัล “พรี แวร์ซาย” (Prix Versailles) ในฐานะสนามบินสวยที่สุดในโลก สาขาสถาปัตยกรรมดีเด่นด้านรูปลักษณ์อาคารประจำปี ๒๕๖๗ โดยได้ถ่ายทอดความวิจิตรของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ไทยมาออกแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สะท้อนความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัยครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์และวิถีชีวิต นับเป็นรางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจแก่คนไทยทุกคน ด้วยปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ ๓ ขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้เพิ่มขึ้นจาก ๖๘ เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น ๙๔ เที่ยวบินต่อชั่วโมง เฉลี่ยวันละ ๘๐๐ – ๑,๐๐๐ เที่ยวบิน และเปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๗#ทรงพระเจริญ
เม.ย. 02, 2025 0
เม.ย. 02, 2025 0
เม.ย. 02, 2025 0
เม.ย. 02, 2025 0