Latest update พฤศจิกายน 23rd, 2024 1:38 PM
ต.ค. 28, 2022 admin ข่าวสังคม 0
วันนี้ (27 ตุลาคม 2565) เวลา 15.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงข้อสั่งการจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2565 ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ พร้อมด้วยกรรมการ และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยมีข้อสั่งการทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้ (1) เนื่องจากพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 เป็นต้นไป สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก จึงได้ร่วมกันจัดทำระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการ ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมความประพฤติในการขับขี่รถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ให้เกิดความปลอดภัยในการจราจร โดยระเบียบฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 2566 ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ว่าราชการจังหวัด ไปสร้างการรับรู้ความเข้าใจและเร่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวให้กับประชาชนรับทราบโดยทั่วกัน(2) การจัดทำแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ. 2566 ให้ดำเนินการโดยการวิเคราะห์จุดเกิดเหตุซ้ำซาก ทั้งช่วงเทศกาล และไม่ใช่เทศกาล เพื่อนำมาวางแผนป้องกันความเสี่ยงเชิงรุก พร้อมจัดทำแผนที่ความเสี่ยงจุดเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซาก สู่ระบบภูมิสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อวางแผนภาพรวม โดยใช้ระบบ War Room ช่วยในการติดตามประเมินผล รวมถึงให้มีการฝึกซ้อมและกวดขันเกี่ยวกับการกระทำผิดวินัยจราจรอย่างสม่ำเสมอ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งอาสาสมัครต่าง ๆ ที่มี เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้า โดยไม่ต้องรอให้ถึงช่วงเทศกาล เช่น บูรณาการกับภาคีภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ มูลนิธิโตโยต้า ในโครงการถนนสีขาว ให้กระจายในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พร้อมกันนี้ให้กระทรวงมหาดไทยควรแจ้งให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องสื่อสารและส่งเสริมการสร้าง “วัฒนธรรมความปลอดภัย” ให้เป็นวิถีและพฤติกรรมการดำรงชีวิตประจำวันบนความปลอดภัย และให้มีมาตรการในการป้องกันอุบัติเหตุ โดยพึงให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ รวมถึงการไม่สวมหมวกนิรภัย โดยเพิ่มจุดตรวจในถนนสายรอง และเน้นในช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดด้วย(3) (ร่าง) แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 – 2570 ได้มีความเห็นเพิ่มเติมจากนายพิศักดิ์ จิตวิระยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คือ สถิติจำนวนอุบัติเหต ส่วนใหญ่มีการเสียชีวิตจากการใช้รถจักรยานยนต์ (ประมาณมากกว่าร้อยละ 80) จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ เป็นเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นเป็นอนาคตของชาติ(4) ให้ทุกหน่วยงานนำผลการประชุมดังกล่าวไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปตาม (ร่าง) แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 – 2570 โดยเน้นมาตรการเชิงรุกในการจัดการและแก้ไขปัญหาความเสี่ยงด้านคน ถนน และยานพาหนะ พร้อมเร่งรัดมาตรการสวมหมวกนิรภัยให้ได้ ร้อยละ ๑๐๐ โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่อำเภอที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตเนื่องจากไม่สวมหมวกนิรภัยสูง ตลอดจนมุ่งเน้นมาตรการในการสร้างการรับรู้การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และให้เพิ่มการทำงานให้มากยิ่งขึ้นเพื่อไม่ให้มีใครต้องสูญเสียหรือเสียใจจากการมีคนในครอบครัวเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ และพิการ เพราะอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันอย่างเต็มที่เพื่อที่จะลดอุบัติเหตุทางถนนและป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตต่อไป.ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การดำเนินการตามข้อสั่งการทั้ง 4 ข้อดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด กระทรวงมหาดไทยจึงมีหนังสือแจ้งไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และจังหวัดทุกจังหวัด นำข้อสั่งการเหล่านี้ไปปฏิบัติให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมผ่านกลไกและอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน โดยการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนและทุกภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ให้เร่งสร้าง “วัฒนธรรมความปลอดภัย” ให้เป็นวิถีและพฤติกรรมการดำรงชีวิตบนความปลอดภัย และเข้มงวดการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ทั้งในช่วงเทศกาลและไม่ใช่เทศกาล เพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะถนนสายรอง ในช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดด้วย.“อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยในอันดับต้นๆ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่างๆ สถิติความสูญเสียเกิดจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้น จนรัฐบาลต้องกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุให้เหลือน้อยที่สุด โดยมุ่งเน้นป้องกันปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ไม่ว่าจะเป็นการเมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนดและไม่สวมหมวกนิรภัย รวมถึงคุมเข้มการใช้รถจักรยานยนต์ให้มีความปลอดภัย คุมเข้มเรื่องการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ซึ่งตนได้กำชับให้จังหวัดสั่งการไปยังผู้นำชุมชน กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ประสานดำเนินการกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนรับผิดชอบ ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมใช้มาตรการด้านสังคมและชุมชนอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องปรามและตักเตือนบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยง อันอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ ตลอดจนอำนวยความสะดวกการจราจรในเส้นทางสายหลักและสายรอง รวมทั้งแจ้งข้อมูลสภาพการจราจร เส้นทางเลี่ยง ทางลัด เพื่อให้มีความคล่องตัวและปลอดภัยในการเดินทาง อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุทางถนนย่อมสามารถเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ หากผู้ใช้รถใช้รถมีความประมาทเลินเล่อ ด้วยเหตุนี้จึงขอรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนมีสติในการใช้รถใช้ถนน พร้อมร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เป็นวิถีและพฤติกรรมการดำรงชีวิตบนความปลอดภัยร่วมกันอย่างยั่งยืนสืบไป” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้าย#โอดี้FMมีเดียประเทศไทย#โอดี้NEWSสำนักข่าวภูมิภาค#สำนักข่าวภูมิภาคโอดี้NEWS
พ.ย. 23, 2024 0
พ.ย. 23, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0