Latest update พฤศจิกายน 24th, 2024 2:40 AM
ต.ค. 27, 2022 admin ข่าวสังคม 0
วันนี้ (26 ต.ค. 65) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนงานของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรม รัฐวิสาหกิจและสำนักงานจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านระบบ Video Conference โดยได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานหลักในการบูรณาการขับเคลื่อนในพื้นที่ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เป็นแม่ทัพในการแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกับขุนพลในทุกจังหวัด อำเภอ ซึ่งนิยามของคำว่า “ความยากจน” คือ ทุกเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ซึ่งจากผลการสำรวจการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยในแพลตฟอร์ม ThaiQM ภาพรวมประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ต.ค. 65) พบว่า มีจำนวนครัวเรือนที่ประสบปัญหา จำนวน 3,810,466 ครัวเรือน และสามารถแก้ไขปัญหาแล้ว 1,908,619 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 50.09 โดยเมื่อจำแนกตามจำนวนปัญหา มีจำนวน 12,143,656 เรื่อง แก้ไขแล้ว 5,159,142 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 55.48 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้เป็นไปอย่างครอบคลุม ครบถ้วน และต่อเนื่อง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย จึงให้ทุกจังหวัดได้ลงไปสำรวจ Recheck ข้อมูลสภาพปัญหาในแพลตฟอร์ม ThaiQM ทั้ง 35 ปัญหา แล้วจำแนกออกมาให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้เห็นว่า ในพื้นที่จังหวัดมีปัญหาอะไรอยู่บ้าง เพื่อสามารถพิจารณาสั่งการหน่วยงานราชการตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาให้เป็นหัวเรือใหญ่พุ่งเป้าแก้ปัญหา เช่น ปัญหาคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ก็ต้องให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัด ทั้ง กศน. สพม. สพป. เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหา ปัญหางานทะเบียนและบัตร (ไม่มีชื่อในทะเบียน ไม่มีบ้านเลขที่) ก็ต้องให้นายอำเภอในแต่ละท้องที่ดำเนินการ พร้อมทั้งย้ำเตือนว่า “นายอำเภอต้องเป็นธุระในทุกปัญหาด้วย” เพราะนายอำเภอเป็นนายกรัฐมนตรีของอำเภอที่ต้องพุ่งเป้าแก้ไขปัญหา เชิญหน่วยงานในพื้นที่มาคุย มาสอบถามความคืบหน้า ให้คำแนะนำ และลงไปช่วยขับเคลื่อน โดยหากปัญหาใดเป็นสภาพปัญหาที่เกินกำลังของอำเภอให้แจ้งขอรับการสนับสนุนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งหัวหน้าสำนักงานจังหวัดในฐานะเลขานุการร่วม ต้องเป็น Center ในการประชุมทีมเลขานุการร่วม ประกอบด้วย พัฒนาการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และจ่าจังหวัด เพื่อกำกับดูแล ติดตามประเมินผล วิเคราะห์จุดอ่อน/จุดแข็ง ปัญหาอุปสรรค ความสำเร็จของอำเภอตัวอย่าง เพื่อเป็นต้นแบบให้กับทุกอำเภอ ทุกตำบล/หมู่บ้านได้ รวมทั้งหาแนวทางการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง นำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อรายงานมายังปลัดกระทรวงมหาดไทยต่อไป “การเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าราชการมหาดไทยทุกคนต้องมีอุดมการณ์ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน ข้าราชการสำนักงานจังหวัดปฏิบัติงานที่ศาลากลางจังหวัด มีโอกาสดี ๆ มากกว่าเพื่อนข้าราชการที่ทำงาน ณ ที่ว่าการอำเภอต่าง ๆ ดังนั้น โอกาสดี ๆ ในการทำงานเหล่านั้น ต้องแปลงออกมาเป็นความเอาใจใส่ในการทำงาน ต้องเป็นเสนาธิการของผู้ว่าราชการจังหวัดที่รอบรู้ทุกเรื่องของพื้นที่จังหวัด ทำหน้าที่ให้เต็มกำลังความสามารถ เอาใจไปใส่ในงาน ช่วยกันดู ช่วยกันคิด ช่วยกันวางระบบ ปลุกเร้าให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีข้อมูลที่สามารถพิจารณาสั่งการฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัด ซึ่งการแก้ไขปัญหาความยากจน “กระดุมเม็ดแรก คือ ต้องหาเป้าให้เจอ” ทุกจังหวัดต้องไปเช็คว่า สถิติปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของจำนวนครัวเรือน/ประชากรในจังหวัดที่ร้อยละ 21 หรือไม่ หากต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ย ต้องคาดการณ์ว่าข้อมูลที่มีอยู่อาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และต้องมอบหมายให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีมงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันลงไป Recheck ข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนในแต่ละหมู่บ้านอีกครั้งหนึ่งเพื่อยืนยันข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อที่สามารถดำเนินการ “กระดุมเม็ดที่สอง” คือ การลงไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตามเป้าที่ได้ทำการสำรวจและติดตามดูแลครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางอยู่รอด พอเพียง ยั่งยืน โดยทุกจังหวัดต้องยังคงรักษาแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนให้เกิดความต่อเนื่อง หากนอกเหนือเกินกำลังของจังหวัด ขอให้แจ้งมายังปลัดกระทรวงมหาดไทยส่วนกลาง เพื่อหาทางช่วยเหลือให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน และต้องกำหนดให้การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็น KPIs ของจังหวัด อำเภอ กรม และรองปลัดกระทรวงประจำภาคด้วย” ปลัด มท. กล่าวเน้นย้ำ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอีกว่า ขอให้คนมหาดไทยทุกคนได้ตระหนักว่าการหาข้อมูลคนจน คนที่เดือดร้อนในพื้นที่ และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ไม่มีทางสมบูรณ์ เพราะแม้ว่าเราจะไปสร้างบ้านให้กับประชาชนเสร็จแล้วก็ตาม การใช้ชีวิตหลังจากที่เขามีบ้านแล้วก็ยังคงเป็นปัญหาในเรื่องศักยภาพของคนด้านการหาเลี้ยงดูครอบครัวและการดำรงชีวิต ดังนั้น การแก้ไขปัญหามิติด้านที่อยู่อาศัยต้องคู่กับเรื่องอาชีพ จึงต้องมีพี่เลี้ยงดูแล เพราะบางคนอาจจะไม่มีศักยภาพการทำงาน ถูกทอดทิ้ง และไม่มีญาติพี่น้อง โดยขอให้กรมการปกครองได้แจ้งให้นายอำเภอทุกอำเภอได้วางระบบการดูแลประชาชนในชุมชน ตำบล หมู่บ้าน หรือเรียกว่า “ระบบญาติมิตร” แม้ไม่ได้เป็นญาติตามสายโลหิต ขอเพียงแค่เป็นครัวเรือนใกล้เคียง ครัวเรือนในรัศมีเดินไปหากันได้ ขี่จักรยานไปหากันได้ พายเรือไปหากันได้ โรงเรียนที่มีที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้น ๆ “นายอำเภอ” ต้องเป็นผู้นำส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ช่วยกันวางระบบทำให้บ้านใกล้เรือนเคียงช่วยกันดูแลกัน ทั้งครัวเรือนที่ตกเกณฑ์ และครัวเรือนทั่วไปได้ เช่น การจัดกิจกรรมให้เด็กนักเรียนไปพูดคุยกับผู้สูงอายุในชุมชนที่อาศัยโดยลำพัง เพื่อให้ผู้สูงอายุได้พูดคุย ได้บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งในชีวิตและในสังคมที่เคยพบพาน ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกหงอยเหงาโดดเดี่ยว และยังทำให้เด็ก ๆ ได้รับองค์ความรู้จากผู้ใหญ่ในชุมชน นอกจากนี้ จังหวัดและอำเภอยังสามารถคิดริเริ่มกิจกรรมอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เกิดการเสริมสร้างการดูแลช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลของคนในชุมชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” อย่างยั่งยืน ได้ “ขอให้ข้าราชการมหาดไทยทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ทุ่มเท เสียสละ ในการอุทิศตน เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เพื่อทรงเบาพระราชหฤทัยที่มีพวกเราชาวมหาดไทยเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มี passion ในการที่จะขับเคลื่อนงานแก้ไขทุกปัญหาความเดือดร้อน เพื่อทำให้พสกนิกรของพระองค์ท่านมีความสุข หมดจากทุกข์ อันยังผลให้ประเทศชาติมีความสงบสุขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย#โอดี้FMมีเดียประเทศไทย#โอดี้NEWSสำนักข่าวภูมิภาค#สำนักข่าวภูมิภาคโอดี้NEWS
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 23, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0