Latest update พฤศจิกายน 25th, 2024 11:29 AM
ส.ค. 23, 2022 admin ข่าวสังคม 0
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมข้อหารือเชิงนโยบาย (Policy Dialogue) ประเด็น “ครอบครัวคุณภาพ (Smart Families)” ภายในการประชุม APEC Health Week โดย ดร.สาธิต กล่าวว่า สมาชิกเอเปค 17 เขต จากทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ กำลังเผชิญกับปัญหาอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่าอัตราการทดแทน (รวมทั้งประเทศไทย) ทำให้จำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยปัจจุบัน ประเทศไทยซึ่งมีประชากรราว 66 ล้านคน ได้เข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) เรียบร้อยแล้ว และกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในไม่ช้า “ขณะนี้ ประเทศไทยมีเด็กแรกเกิดลดลงทุกปี โดยในปี 2564 เด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือ 5.4 แสนคน และกำลังลดลงเรื่อยๆ ซึ่งหากไม่ทำอะไรเลย ในอนาคต การเกิดจะน้อยกว่าการตาย ประชากรไทยอาจจะลดลงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานที่ต้องอุ้มชูดูแลทั้งสังคม วัยเด็ก และวัยสูงอายุ มีจำนวนลดลง และแบกรับภาระมากขึ้น คาดว่า 40 ปีข้างหน้า วัยทำงานจะลดลง 15 ล้านคน และมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 12 ล้านคน ทำให้กระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเงินการคลังของประเทศ” ดร.สาธิตกล่าว ดร.สาธิต กล่าวว่า การประชุมนี้ เป็นโอกาสที่สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์ และหารือสร้างฉันทามติเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนครอบครัว ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชนของแต่ละเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วม โดยประเทศไทยมีการนำเสนอเรื่องของโครงการครอบครัวคุณภาพ Smart Families ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นโยบายด้านประชากรของไทยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก ส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้น สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ทำให้ประเทศไทยมีประชากรเพิ่มขึ้นจาก 14.5 ล้านคน ในปี 2480 เป็น 26.3 ล้านคน ในปี 2503 ช่วงที่สอง การส่งเสริมการวางแผนครอบครัว หลังจากที่ประเทศไทยมีการอัตราการเกิดเพิ่มมากขึ้น โดยประกาศนโยบายครั้งแรกเมื่อ ปี 2513 และพัฒนากลายเป็นโครงการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ ที่ประสบความสำเร็จ และช่วงที่สาม คือ ปัจจุบันที่อัตราการเจริญพันธุ์รวมของไทยลดลงอย่างมาก โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำที่สุดในโลก (ข้อมูลจาก World Population Prospect 2022) โดยในปี 2564 มีเพียง 20 ประเทศเท่านั้น ที่มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าประเทศไทย นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เตรียมออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ เช่น การส่งเสริมการเกิดที่มีความพร้อม และส่งเสริมการดูแลเลี้ยงดูเด็กที่เกิดมาให้เติบโตได้เต็มศักยภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป การออก พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านรูปแบบของคณะกรรมการ เพื่อลดอัตราการคลอดบุตรในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ลงครึ่งหนึ่งก่อน 10 ปี และตั้งเป้าหมายจะลดอัตราคลอดบุตรในวัยรุ่นภายในปี 2570 ให้เหลือไม่เกิน 1.5 ต่อประชากร 1 พันคน นอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหาการหลุดจากระบบการศึกษา มีการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือแม่วัยรุ่นด้วย#สำนักข่าวภูมิภาค#โอดี้NEWSรายงาน#โอดี้FMมีเดียประเทศไทย
พ.ย. 25, 2024 0
พ.ย. 25, 2024 0
พ.ย. 25, 2024 0