Latest update ธันวาคม 3rd, 2024 3:11 PM
มิ.ย. 25, 2022 admin ข่าวภูมิภาค 0
วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ในการทรงสดับพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ สลับโหรหลวงบูชาเทพยดานพเคราะห์ ในโอกาสที่คณะสงฆ์ธรรมยุตจัดถวายพระพร เนื่องในมงคลสมัยคล้ายวันประสูติ 26 มิถุนายน 2565
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดรับการบำเพ็ญพระกุศลคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี พลตำรวจโท สกลเขต จันทรา กรมวังผู้ใหญ่ เป็นผู้เชิญผ้าไตรและเครื่องไทยธรรมพระราชทาน ถวายแด่พระสงฆ์ผู้ประกอบพิธี
ในการประกอบพิธีฯ วันนี้ มี เจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม วัดเทพศิรินทราวาส เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พร้อมด้วยพระราชาคณะ และพุทธศาสนิกชน อาทิ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ไวยาวัจกรวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และนายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า บทสวดมนต์ “นวัคคหายุสมธัมม์” (อ่านว่า นะ-วัก-คะ-หา-ยุ-สะ-มะ-ทำ) เป็นพระนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ที่รวบรวมพระธรรมต่าง ๆ ในหลายพระสูตร อันมีข้อธรรมเท่าจำนวนเกณฑ์กำลังเทวดานพเคราะห์ตามหลักโหราศาสตร์ไทย โดยทรงนิพนธ์บทขัดตำนานสำหรับพระธรรมบทนั้นด้วย เมื่อคราวบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษา ครบ 50 ปี ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2412
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “บทสวดมนต์ “นวัคคหายุสมธัมม์” แปลว่า ธรรมที่เสมอด้วยอายุแห่งการกำหนดด้วยองค์ 9 หรือ ธรรมเป็นเครื่องเสมออายุด้วยนพเคราะห์ เป็นการรจนาบทสวดขึ้นมาใหม่ เพื่อถวายพระพรชัยมงคลโดยเฉพาะ ทั้งนี้ มหาเถรสมาคมแต่งขึ้น โดยมอบหมายให้พระเถระใดรูปหนึ่งรจนาขึ้นมา โดยดึงมาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก คือ พระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก จะเทียบเคียงได้กับบทสวดนพเคราะห์ มุ่งให้นำธรรมะอันเป็นเนื้อหาในบทสวดมนต์ไปเป็นข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อกำจัดเคราะห์และเสริมมงคล ด้วยการประพฤติปฏิบัติ ส่วนบทสวด พระปริตรนพเคราะห์หลวง เป็นบทสวด ๒ ตำรับ มาตั้งชื่อรวมกัน คือ พระปริตร และ นพเคราะห์ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ในการสวดนพเคราะห์นั้น มีพระปริตรสูตรต่างๆ รวมอยู่ด้วย เช่น มงคลสูตร รัตนสูตร กรณียเมตตสูตร เป็นต้น”
“เนื่องในมงคลสมัยคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 26 มิถุนายน 2565 พุทธศาสนิกชน สามารถร่วมโดยเสด็จพระกุศลเพื่อสร้างสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) คลอง 9 จังหวัดปทุมธานี ได้ที่บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาถนนเฟื่องนคร ชื่อบัญชี วัดราชบพิธฯ เพื่อสร้างสถานปฏิบัติธรรม เลขที่บัญชี 159-0-10328-9 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมที่มุ่งเน้นธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน ภายในแบ่งพื้นที่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ศูนย์สุขภาพ เจดีย์และพิพิธภัณฑ์ โรงเรียนพระปริยัติธรรม วิหารธรรม ที่พักสงฆ์ และที่พักของฆราวาสที่มาปฏิบัติธรรมแยกเป็นเขตสังฆาวาสและฆราวาส เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา ถวายแด่พระพุทธเจ้า ถวายแด่บุรพาจารย์ทุกองค์ ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชทั้ง 3 พระองค์ของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และถวายแด่บูรพกษัตริย์ไทยทุก ๆ พระองค์” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว#สำนักข่าวภูมิภาค#โอดี้NEWSรายงาน#โอดี้FMมีเดียประเทศไทย
ธ.ค. 03, 2024 0
ธ.ค. 03, 2024 0
ธ.ค. 03, 2024 0
ธ.ค. 03, 2024 0
ธ.ค. 03, 2024 0
ธ.ค. 03, 2024 0
พ.ย. 30, 2024 0