Latest update พฤศจิกายน 21st, 2024 2:27 PM
มิ.ย. 06, 2022 admin ข่าวสังคม 0
วันนี้ (6 มิ.ย. 65) เวลา 08.30 น. ที่ห้องประชุมราชพบิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2565 โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชยาวุธ จันทร นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสุธาทิพย์ สนเอี่ยม รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษาระดับกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำหน้าที่ในฐานะปกครองบังคับบัญชาข้าราชการในจังหวัดและในฐานะผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ขับเคลื่อนการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งถือเป็น “ความท้าทายของพ่อเมือง” ที่ต้องรับรู้รับทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่จังหวัดทุกเรื่อง เช่น ยาเสพติด อาชญากรรม อุบัติเหตุ แรงงาน หรือแม้แต่เรื่องลัทธิประหลาด โดยใช้อำนาจหน้าที่บังคับบัญชากลไกการปกครองท้องที่ทั้งนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตา เป็นฟันเฟืองการปกครองที่มีประสิทธิภาพในระดับพื้นที่ โดยต้องกำชับให้นายอำเภอ และปลัดอำเภอ ทำการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านทุกคนให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2559 ให้เป็นไปตามผลการทำงานจริง และต้องลงไปกำกับติดตามและเน้นย้ำแนวนโยบายในการทำงานตามนโยบายรัฐบาลในทุกเรื่องอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสภาท้องถิ่นในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นและจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนอย่างเต็มศักยภาพ โดยไม่เป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบแนวทางการทำงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ 1) การจัดการสาธารณภัย โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้กำหนด ทั้งการติดตามสถานการณ์ การแจ้งเตือนประชาชน การเตรียมการเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้มีความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง และหากเกิดสถานการณ์ภัยทุกประเภท ขอให้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้ายู่หัว บูรณาการทุกภาคส่วนเร่งทำให้พี่น้องประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตโดยปกติสุขโดยเร็ว ทั้งการจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน การแจกถุงยังชีพตามวงรอบ การจัดการที่อยู่อาศัยที่พักพิงชั่วคราว และการซ่อม สร้าง ที่อยู่อาศัยให้กับพี่น้องประชาชน และในช่วงฤดูฝนนี้ ขอให้เตรียมมาตรการรองรับน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และคลื่นลมแรง ให้มีความพร้อมด้วย 2) การดำเนินงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนพุ่งเป้าลงพื้นที่สำรวจข้อมูลความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั้งจากระบบ TPMAP และ THAIQM เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่ได้ซักซ้อมไว้ โดยจะได้มีการหารือผ่านการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ในวันที่ 13 มิถุนายน 2565 3) การบริหารสถานการณ์โควิด-19 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประชุมร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณากำหนดการผ่อนคลายมาตรการ โดย 2 หลักการสำคัญ คือ 1 ไม่ทำให้เกิดการระบาดจนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้ และ 2 ทำให้คนทำมาหากิน ใช้ชีวิตปกติสุขเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ 4) การสร้างการรับรู้สู่ชุมชน โดยต้องให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และพิจารณานำแนวทางการดำเนินงานของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีมาประยุกต์ใช้ ด้วยการพูดซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ใช้ภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย ไม่ยืดยาว เยิ้นเย้อ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเอง หรือบุคคลในพื้นที่ที่เป็นที่รู้จักของประชาชน หรือประชาสัมพันธ์จังหวัด บันทึกเสียงคำพูดข้อมูลข่าวสารจากส่วนกลาง และข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ เผยแพร่ผ่านหอกระจายข่าวและเสียงตามสายหมู่บ้าน/ชุมชน ในทุกวัน เพื่อให้เกิดการสร้างความรับรู้ความเข้าใจและความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ 5) การบริการประชาชนตาม พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 โดยต้องเน้นย้ำทุกส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และระยะเวลาการให้บริการประชาชนตามคู่มือสำหรับประชาชน และ 6) การบริหารจัดการขยะ ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตามหลัก 3 ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ตามแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับนายอำเภอนำแนวนโยบายและข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงในที่ประชุมกรมการจังหวัด กำหนดเป็นวาระการประชุมประจำเดือนของอำเภอ และติดตามการดำเนินงานอย่างเอาจริงเอาจัง ในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน และขอให้สำรวจสิ่งก่อสร้างที่ได้ดำเนินการแล้วแต่ยังไม่เปิดใช้งานได้โดยหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในด้านการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2559 มอบหมายให้ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน เป็นประธานคณะทำงานกำหนดกรอบแนวทางในการกำกับติดตามการปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่บ้าน ให้เป็นไปตามระเบียบฯ ดังกล่าว และสำหรับในด้านการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหารือร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาผ่อนปรนมาตรการให้เป็นไปตามนโยบายศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และพิจารณามาตรการลักษณะแนวทางสอดคล้องกับจังหวัดใกล้เคียงเพื่อส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ #สำนักข่าวภูมิภาค#โอดี้NEWSรายงาน#โอดี้FMมีเดียประเทศไทย
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0
พ.ย. 21, 2024 0