Latest update พฤศจิกายน 24th, 2024 11:16 PM
เม.ย. 04, 2022 admin ข่าวดีทั่วไทยส่งเสริมสังคม 0
วันนี้ (4 เม.ย. 65) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เดือนเมษายน 2565 ผ่านระบบ Video Conference โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารฝ่ายการเมือง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร อธิบดี หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ ผู้แทนกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะได้เป็นการให้หัวหน้าส่วนราชการที่มีประเด็นนโยบายที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติในพื้นที่ได้ร่วมชี้แจงข้อราชการ ซึ่งในขณะนี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตนของพี่น้องประชาชนในหลายประเด็น เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การบริหารจัดการสาธารณภัย (ภัยแล้ง) การแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การแก้ไขสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นต้น นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ในขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปี 2565 ในอัตราจัดเก็บตามกฎหมาย ไม่มีการลดหย่อน โดยในห้วงเดือนเมษายนเป็นช่วงของการชำระภาษี เว้นแต่ว่า หากผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาแล้วมีความจำเป็นต้องขยายเวลาการสำรวจก็สามารถขยายเวลาได้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งสื่อสารช่องทางอำนวยความสะดวกในการชำระภาษี 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) การชำระ ณ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยบริการเคลื่อนที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2) ผ่านไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ธนาณัติหรือตั๋วแลกเงิน และ 3) ผ่านธนาคาร เคาน์เตอร์ ATM อินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง ผ่าน e-payment ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระภาษีให้กับพี่น้องประชาชน รวมทั้งกำกับติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามแนวทางที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้แจ้งแนวทางปฏิบัติกับทุกจังหวัด นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและทุกจังหวัดดำเนินการตรวจสอบสภาพปัญหาในพื้นที่ให้ครอบคลุม เร่งสำรวจพื้นที่เสี่ยง และให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยแล้งอย่างทั่วถึง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องกำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมเดินหน้าสร้างการรับรู้ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เข้าใจถึงสถานการณ์น้ำ และใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค พบว่ามีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 22,592 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่เสี่ยงมาก 2,139 หมู่บ้าน กระจายใน 60 จังหวัด พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 6,448 หมู่บ้าน และพื้นที่เฝ้าระวัง 14,005 หมู่บ้าน ใน 67 จังหวัด และมี 9 จังหวัดไม่มีความเสี่ยง โดยจังหวัดสามารถขอรับการสนับสนุนด้านเครื่องมือในการแก้ปัญหาระยะสั้นจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ทั้งเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ พร้อมทั้งพิจารณาใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาตามระเบียบราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพิจารณานำแนวทางตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ไปขยายผลให้พี่น้องประชาชนให้หลักทฤษฎีใหม่ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีแหล่งน้ำในครัวเรือน นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาระยะยาว ได้มีข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดและนายอำเภอสำรวจพื้นที่สาธารณะที่สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำ โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ พ.ศ. 2547 นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ มีเป้าหมายครัวเรือนในระบบ TPMAP ณ วันที่ 3 เม.ย. 65 เวลา 18.00 น. จำนวน 643,973 ครัวเรือน ในขณะนี้มีผลความก้าวหน้าการดำเนินการ ณ เวลา 18.00 น. ของวันที่ 3 เม.ย.65 ทีมพี่เลี้ยงได้ลงไปวิเคราะห์สภาพปัญหาครัวเรือนและรายงานบันทึกเข้าระบบแล้ว จำนวนประมาณ 4.4 แสนครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 69.22 อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ 1.2 แสนครัวเรือน รวมการดำเนินการในภาพรวมแล้ว 5.6 แสนครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 88.33 จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา แพร่ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้นำเสนอการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า ในด้านการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาทั้งการแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะยาว ในมิติป้องกันและแก้ไข ด้วยการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุก เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยในการใช้จ่ายงบประมาณต้องเป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย อย่างเคร่งครัด และในการสำรวจพื้นที่เพื่อรองรับการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ขอให้พิจารณาจากที่ดินสาธารณะในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยก่อน โดยใช้แนวทางตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ พ.ศ. 2547 สำหรับในด้านการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “ทีมพี่เลี้ยง” มีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหาข้อมูล วิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไข โดยใช้ข้อมูลจาก TPMAP เป็นฐานในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา/วางแผนครัวเรือน เพื่อประชุมรวมกับทีมปฏิบัติการตำบลตาม และเสนอไปยัง ศจพ.อำเภอ ซึ่งหากมีข้อมูลไม่สมบูรณ์ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และในด้านการแก้ไขปัญหา ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องบูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาเป็นหน่วยลงไปแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่และงบประมาณของส่วนราชการนั้น ๆ ให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอตามห้วงเวลาที่กำหนด คือ วันที่ 30 กันยายน 2565 กลไกสำคัญ คือ นายอำเภอ และปลัดอำเภอประจำตำบลต้องนำส่วนราชการลงไปแก้ไขปัญหาให้ได้ ทั้งนี้ ความสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่ทีมพี่เลี้ยงและทีมปฏิบัติการตำบลในระดับพื้นที่ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของข้อมูล และโดยในการสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่ตกหล่น ขอให้ยึดตัวชี้วัดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 17 ตัวชี้วัด ในระบบ TPMAP นอกจากนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาขยะบนเกาะ ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งปัญหาใหญ่ ๆ ของขยะบนเกาะไม่ใช่แค่เพียงแต่เรื่องการจัดเก็บ แต่เป็นเรื่องการกำจัดที่ยังมีหลายพื้นที่จำเป็นต้องขนย้ายขยะมาจำกัดบริเวณบนฝั่ง โดยหากในอนาคตสามารถกำจัดขยะให้แล้วเสร็จบนเกาะได้ จะทำให้การจัดการขยะบนพื้นที่เกาะต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ด้าน นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายนายอำเภอร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการสำรวจพื้นที่สาธารณะที่สามารถเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ได้ โดยประสานกรมโยธาธิการและผังเมืองและกรมชลประทานซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสำรวจและออกแบบ อันจะทำให้เรามีแหล่งกักเก็บน้ำในชุมชน ทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตรกรรม อันจะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร นอกจากนี้ ในช่วงเดือนเมษายนจะมีพี่น้องประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญในการลดการสูญเสียชีวิตของประชาชนบนท้องถนนให้ไม่เกิน 22 คนต่อแสนประชากรตามเป้าหมาย ด้วยการเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้น และขอให้กรมที่ดินได้ประสานจังหวัดมอบหมายให้นายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งรัดสำรวจที่ดินแปลงสาธารณะที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) และทำการออก น.ส.ล. เพื่อทำให้ทราบขอบเขตที่แน่นอน และสามารถบริหารจัดการแปลงที่ดินให้เป็นที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนตามนโยบายรัฐบาล พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มมากขึ้น และมีสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น ทั้งมาตรการ Universal Prevention การปฏิบัติตามหลัก DMHTT และมาตรการความปลอดภัยองค์กร (COVID Free Setting) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม 608 รวมถึงเด็กเล็ก เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัดที่สุด พร้อมทั้งได้เน้นย้ำในเรื่องการบริหารราชการต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร โดยต้องสั่งการ เน้นย้ำ กำชับ และติดตามการทำงานของส่วนราชการในความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องความโปร่งใส (Transparency) และการทำงานตามหลักธรรมาภิบาลทุกด้านโดยเคร่งครัด และหากเกิดการกระทำผิดความผิดของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ จะต้องดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ หากมีความผิดต้องได้รับโทษทั้งทางวินัย และทางอาญาตามกฎหมาย อย่างเคร่งครัด ไม่มีละเว้น และขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงข้าราชการทุกฝ่ายในระดับพื้นที่ที่มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการบริหารราชการให้เกิดประสิทธิภาพ บรรลุผลสัมฤทธิ์ในการดูแลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 24, 2024 0
พ.ย. 16, 2024 0
พ.ย. 08, 2024 0
พ.ย. 06, 2024 0