Latest update พฤศจิกายน 25th, 2024 11:29 AM
เม.ย. 03, 2022 admin ข่าวสังคม 0
วันนี้ (3 เม.ย. 65) เวลา 10:30 น. ที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัย โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นาโมเดล (CLM) “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” พุทธอุทยานดอยอินทรีย์ บ้านดอยฮางใน หมู่ที่ 1 ต.ดอยฮาง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการ PEA Go Green ปลูกสมุนไพร เนื่องในโอกาสการสถาปนากระทรวงมหาดไทยครบ 130 ปี ในปี พ.ศ. 2565 โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร และประธานกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ ข้าราชการ และพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกิจกรรม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เนื่องในวาระที่กระทรวงมหาดไทยได้รับการสถาปนาครบ 130 ปี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ภาคภูมิใจของพี่น้องข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ริเริ่มคิดทำโครงการ PEA Go Green ปลูกสมุนไพร อันเป็นการ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน เป็นโครงการปฐมฤกษ์ในการทำกิจกรรมกับสังคมเพื่อที่จะเฉลิมฉลองและภาคภูมิใจเนื่องในโอกาสดังกล่าว อันเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานมาเป็นระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ปี 2532 ให้เป็นแนวทางเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ด้วยการประมวลนำองค์ความรู้ที่พระองค์ท่านสังเกตเห็นจากธรรมชาติเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบสิ่งที่เป็นจริงอยู่ในธรรมชาติโดยไม่ได้ประดิษฐ์ประดอยเรื่องที่เหนือชีวิตจริงของชาวโลก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพี่น้องประชาชนคนไทยในทุกภูมิภาคนานกว่า 70 ปี ซึ่งในปี 2532 ได้ริเริ่มน้อมนำพระราชดำริ “เกษตรทฤษฎีใหม่” โดยทดลองทำครั้งแรกที่วัดเฉลิมพระเกียรติ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี และต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชปณิธานที่แน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระบรมราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก โดยน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล มาขับเคลื่อน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมและน้อมนำเรื่องดังกล่าวมาร่วมขับเคลื่อนขยายผลโดยมี ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อาจารย์ยักษ์) ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล (อ.โก้) และรองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ (อ.น้อยหน่า) ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายภาควิชาการในการขับเคลื่อน โดยเหตุที่ใช้คำว่า “ทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา” เพราะทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานให้มีมากกว่า 40 ทฤษฎี แต่ทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เป็นการน้อมนำทฤษฎีพระราชทานมาใช้มากกว่า 1 ทฤษฎี เพื่อที่จะทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นและยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ แต่เป้าหมายและเป็นหลักเดียวที่จริงแท้แน่นอนในการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ คือ “คน” ดังนั้น โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา จึงต้องค้นหาคนที่สมัครใจที่จะเข้ามาศึกษา มาฝึกอบรม เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการที่จะไปพัฒนาพื้นที่ต้นแบบหรือพื้นที่ทำมาหากินของตนเอง และไปขยายผลดูแลครอบครัวด้วยการเป็นผู้ที่น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปประยุกต์ใช้ เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน หรือที่เราเรียกว่า “ไร่นาสวนผสม” ที่มีการจัดทำพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำ เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักผสมผสาน และมีที่อยู่อาศัย จึงเรียกว่า ทฤษฎีใหม่ ตรงข้ามกับทฤษฎีเก่าหรือเกษตรเชิงเดี่ยวที่มุ่งเน้นปลูกอย่างเดียวและพึ่งพาความเจริญทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ทั้งยาฆ่าแมลง สารเคมี ยาฆ่าย่า เครื่องกล เครื่องจักรที่ต้องใช้เงิน “ในการที่เราจะสาธยายสิ่งที่เราได้ช่วยกันขับเคลื่อนอยู่นี้ สิ่งหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องนึกถึง คือ พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงไม่ใช่เพียงแต่พระราชทานพระราชดำรัสในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถเท่านั้น แต่พระองค์ท่านทรงแปลงมาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ทั้งในแง่ทรงคิด และทรงวาดภาพวาดฝีพระหัตถ์ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจ และความหวัง” พระราชทานให้พสกนิกรชาวไทยเพื่อเป็นแรงบันดาลใจเป็นจำนวนมากกว่า 10 ภาพ และยังทรงพระราชทานโครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจ และความหวังให้กับกรมราชทัณฑ์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้คนที่หลงผิดได้มีองค์ความรู้ที่จะสามารถมาดูแลตนเองได้ “ตรงกับสิ่งที่พวกเราน้อมนำมาขับเคลื่อน นั่นคือ “เราไม่ได้พัฒนาพื้นที่ แต่เราพัฒนาคน” เพื่อให้คนกลับไปพัฒนาพื้นที่ ไปดูแลคนในครอบครัว ไปช่วยดูแลสังคม ดูแลชุมชน ให้มีคุณภาพที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ได้ดำเนินการในวันนี้ เป็นการยืนยันให้เห็นว่าทุกกิจกรรมที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้ดำเนินการมานั้น เป็นสิ่งที่ยืนอยู่บนพื้นที่ฐานของการทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยตัวเอง เช่น การขยายระบบให้บริการไฟฟ้ามาสู่พี่น้องประชาชน และในขณะเดียวกัน ก็นำสิ่งที่สำคัญที่สุดของการลดภาวะโลกร้อน คือ การนำระบบโซลาเซลล์ชนิดต่าง ๆ สู่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พุทธอุทยานดอยอินทรีย์แห่งนี้ ให้ได้มีพลังงานไฟฟ้าสำหรับเป็นแสงสว่าง เช่น Solar Lighting กังหันพัฒนาระบบสูบน้ำ Solar Pump เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราลดในการใช้พลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิล ถ่านหิน น้ำมัน รวมทั้งพลังงานจากเขื่อนซึ่งส่งผลกระทบต่อการต้องทำลายป่า กระทบธรรมชาติ สัตว์ สิ่งมีชีวิต อันจะเป็นบทเรียนสำคัญทำให้พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสศึกษาดูงาน ฝึกอบรม จดจำ และนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเป็นการปฏิบัติบูชาด้วยการสนองพระราชดำริในการขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 67 พรรษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 และที่สำคัญที่สุด เป็นการช่วยทำให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในบริเวณนี้ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวมถึงพีน้องประชาชนทั่วประเทศ จะได้มีสถานที่สำหรับสร้างโอกาสศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ให้มีทั้งเรื่องของอาหาร คือ ต้นไม้ที่เป็นอาหาร ยารักษาโรค คือมีต้นไม้ที่เป็นสมุนไพร ใช้เป็นยารักษาโรค เป็นยาบำรุงเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เช่น น้ำเจ็ดนางฟ้า ซึ่งวันนี้ทุกคนได้ช่วยกันปลูกจำนวนมาก และยังเป็นกำลังใจให้พระเดชพระคุณทุกรูปได้มีกำลังใจในการที่จะช่วยกันดูแลสังคม ประเทศชาติ และทำหน้าที่สาธารณสงเคราะห์ให้ญาติโยมทั้งหลาย รวมตลอดจนถึงสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งบนอากาศ บนดิน ใต้ดิน ได้มีชีวิตที่เป็นปกติสุขเพิ่มมากขึ้นจากการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างเคารพธรรมชาติ ด้วยการสร้าง การฟื้นฟูป่า 5 ระดับ หรือป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างให้เกิดขึ้นในพื้นที่ทำมาหากิน ตรงตามทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา “ขอให้ทุกท่านได้รับสิ่งที่เรียกว่าความสุข ความสบายใจ และกำลังใจในการช่วยกันน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรร่วมกันต่อไป และขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการทุกคน ยึดแนวทาง “ผู้นำต้องทำก่อน” นำเอาตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาพื้นที่ดอยอินทรีย์แห่งนี้ขยายให้เต็มพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อเราได้นอนตายตาหลับว่าเราได้ทำหน้าที่พสกนิกรที่ดี ทำหน้าที่คนไทยที่ดี คือ ได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินในแนวทางที่ถูกต้องไปด้วยกัน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ได้คัดเลือกโครงการต่างๆ เนื่องในโอกาสครบ 130 ปีกระทรวงมหาดไทย จำนวน 5 โครงการ เป็นงบประมาณรวมทั้งสิ้น 20,000,000.- บาท ได้แก่ โครงการ PEA Community Mall (พีอีเอ คอมมูนิตี้ มอลล์) โครงการ PEA Go Green (พีอีเอ โก กรีน) ปลูกสมุนไพร โครงการ PEA จิตอาสา พัฒนาลำน้ำ ลำคลอง โครงการ ตลาดนัดชุมชนปลอดภัย ใช้ไฟ PEA โครงการ จัดทำของที่ระลึก 130 ปี กระทรวงมหาดไทย โดยโครงการ PEA Go Green (พี่อีเอ โก กรีน) ปลูกสมุนไพร เป็นโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ 4 ภาค โดยในภาคเหนือดำเนินการ ณ พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตำบลดอยฮาง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เนื่องจากเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยโครงการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้ประชาชน พุทธศาสนิกชน และเยาวชน อนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาพันธุ์ไม้ เช่น ย่านาง โหระพา ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด กระชาย ซึ่งเป็นส่วนผสมของน้ำสมุนไพร 7 นางฟ้า มีฤทธิ์ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าว ยังสอดคล้องตามหลัก BCG Model (บีซีจี โมเดล) ที่เป็นการเชื่อมโยงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและยังนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง UN SDG (ยูเอ็น เอสดีจี) อีกทั้งสถานที่แห่งนี้ ยังเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ศาสตร์พระราชา ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลป่าหลังการปลูก โดยปลูกต้นไม้ ตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ส่งผลให้พืชพันธุ์ในพื้นที่ สามารถเจริญเติบโต แข็งแรง มีอัตราการรอดสูง และ PEA ได้ดำเนินการขยายเขตระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการขยายตัวของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติศาสตร์พระราชา ซึ่งพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์เชียงราย โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 900,000.-บาท #สำนักข่าวภูมิภาค#โอดี้NEWSรายงาน#โอดี้FMมีเดียประเทศไทย
พ.ย. 25, 2024 0
พ.ย. 25, 2024 0
พ.ย. 25, 2024 0